รีเซต

คอลัมน์ People In Focus : มาร์ค รุตต์ นายกฯเนเธอร์แลนด์กับฉายา 'มิสเตอร์โน'

คอลัมน์ People In Focus : มาร์ค รุตต์ นายกฯเนเธอร์แลนด์กับฉายา 'มิสเตอร์โน'
มติชน
24 กรกฎาคม 2563 ( 17:12 )
148
คอลัมน์ People In Focus : มาร์ค รุตต์ นายกฯเนเธอร์แลนด์กับฉายา 'มิสเตอร์โน'

คอลัมน์ People In Focus : มาร์ค รุตต์ นายกฯเนเธอร์แลนด์กับฉายา ‘มิสเตอร์โน’

มาร์ค รุตต์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ได้ฉายาใหม่ว่า ‘มิสเตอร์โน’ สะท้อนท่าทีคัดค้านหัวชนฝา ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป เพื่อลงมติให้งบช่วยเหลือประเทศสมาชิกอียู ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ะระบาดของเชื้อโควิด-19

รุตต์ ในฐานะผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของ ‘กลุ่มประเทศฟรูกัล’ ซึ่งประกอบไปด้วยเนเธอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ค และฟินแลนด์ มีส่วนสำคัญในการยืนหยัดเรียกร้องให้ลดสัดส่วนของงบช่วยเหลือให้เปล่าลงและเพิ่มสัดส่วนของบประมาณกู้ยืมให้เพิ่มมากขึ้น

การประชุมซึ่งกินเวลายาวนานถึง 5 วัน ในที่สุดได้ข้อสรุปในช่วงเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยงบประมาณ 750,000 ล้านยูโรจากเดิมที่จะมีสัดส่วนเงินอุดหนุนให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 500,000 ล้านยูโร ถูกปรับลดลงเหลือ 390,000 ล้านยูโร เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ต้องการ

“เราไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพื่อที่จะไปงานวันเกิดของคนอื่นตลอดชีวิตของพวกเราที่เหลือ พวกเรามาอยู่ที่นี่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศของพวกเราเอง” รุตต์ ระบุ

นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ วัย 53 ปี เป็นนักการเมืองสายเสรีนิยม เป็นหนึ่งในผู้นำชาติยุโรปที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ถึง 10 ปี เป็นนักการเมืองที่ประหยัดมัธยัสถ์ ขี่จักรยานไปทำงานจากอพาร์ทเมนท์ที่พักที่อาศัยมาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย และมีรถยนต์ยี่ห้อ ‘ซาบ’ มือ 2 ใช้ในการเดินทาง

อดีตผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทยูนิลิเวอร์ เป็นที่รู้จักในฐานะคนเป็นมิตรเข้ากับคนง่าย ทำให้รุตต์มีเพื่อนอยู่มากมายในทุกฝากฝั่งของการเมืองเนเธอร์แลนด์ ก่อนจะได้ฉายาว่า “มิสเตอร์ไนซ์กาย”

เมื่อรวมเอาไว้กับสัญชาติญาณการตัดสินใจทางการเมืองที่เด็ดขาด ส่งผลให้รุตต์ สามารถนั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลผสมของเนเธอร์แลนด์ได้ถึง 3 ยุค สามสมัย นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา

การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2021 รุตต์ ได้รับการคาดหมายว่าจะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 4 เพื่อต้านกระแสจากพรรคขวาจัดที่มีแนวคิดต่อต้านการรวมกลุ่มกับอียู ด้วย

ท่าทีของรุตต์ ในการคัดค้านการผ่านงบประมาณในครั้งนี้ กลายเป็นท่าทีที่สะท้อนฐานเสียงของคนในประเทศ และทำให้เนเธอร์แลนด์ มีบทบาทแทนที่อังกฤษ ที่เพิ่งตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตามรุตต์ เอง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกันว่า เนเธอร์แลนด์ เองก็ทำให้อียู สูญเสียเงินจำนวนมหาศาล จากนโยบายยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มคนหลายสัญชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ ได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังชาติอื่นๆในยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น ที่ทำให้มองได้ว่าเนเธอร์แลนด์นั้นได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว

ขณะที่ ท่าทีแข็งกร้าวของรุตต์ กับกรณีหนี้สินของประเทศกรีซ และวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ของอียู เมื่อปี 2010 เอง ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลายๆชาติสมาชิกในอียูเช่นกัน

นั่นอาจทำให้รุตต์อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบนักในเวทีผู้นำยุโรป ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งทั่วไปของเนเธอร์แลนด์กำลังใกล้เข้ามานั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง