รีเซต

นักวิจัยจีนเผย 'จีโนม' ชุดใหม่ เจาะลึกวิวัฒนาการ 'แพนด้ายักษ์' ยิ่งขึ้น

นักวิจัยจีนเผย 'จีโนม' ชุดใหม่ เจาะลึกวิวัฒนาการ 'แพนด้ายักษ์' ยิ่งขึ้น
Xinhua
3 มีนาคม 2564 ( 09:04 )
223

ปักกิ่ง, 2 มี.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยของจีนเผยแพร่จีโนม (genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรมของ "แพนด้ายักษ์" สายพันธุ์ย่อย 2 สายพันธุ์ ซึ่งเผยให้เห็นลักษณะทางวิวัฒนาการของแพนด้ายักษ์

 

แพนด้ายักษ์ที่มีขนสีดำ-สีขาว อาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทว่าแพนด้ายักษ์ในจีนแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ สายพันธุ์ฉินหลิ่ง (Qinling) และสายพันธุ์ซื่อชวนหรือเสฉวน (Sichuan) โดยแพนด้ายักษ์จากเทือกเขาฉินหลิ่ง มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีหัวกลมและจมูกสั้นดูคล้ายแมว ส่วนแพนด้ายักษ์จากมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ มีหัวยาวและใหญ่กว่าดูคล้ายหมี

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพบีจีไอ (BGI Life Science Research Institution) ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้ายักษ์แห่งประเทศจีน (CCRCGP) ร่วมกับสถาบันอื่นๆ เผยแพร่จีโนมของแพนด้ายักษ์ทั้งสองสายพันธุ์ย่อย รวมถึงการประกอบจีโนมของแพนด้ายักษ์สายพันธุ์ฉินหลิ่งชุดแรก ในวารสารไซเอนซ์ บูลเลติน (Science Bulletin)

 

จีโนมสองชุดล่าสุดนี้มีคุณภาพดีขึ้นตามพัฒนาการของเทคโนโลยีการลำดับข้อมูลทางพันธุกรรม เมื่อเทียบกับจีโนมชุดแรกที่เผยแพร่ในปี 2010 โดยคณะนักวิจัยพบว่าแพนด้ายักษ์แบ่งเป็นสายพันธุ์เสฉวนและสายพันธุ์ฉินหลิ่งเมื่อราว 10,000-12,000 ปีก่อน

การวิเคราะห์จีโนมพบการสูญเสียองค์ประกอบควบคุมในยีนดีเอซีเอช2 (DACH2) และการเปลี่ยนแปลงในยีนเอสวายที6 (SYT6) ซึ่งอาจส่งผลให้แพนด้ายักษ์มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำ ส่วนยีนไอคิวซีดี (IQCD) อาจเป็นสาเหตุทำให้แพนด้ายักษ์สายพันธุ์เสฉวนมีอัตราเจริญพันธุ์ค่อนข้างมากกว่าแพนด้ายักษ์สายพันธุ์ฉินหลิ่ง

 

ฟางกั๋วเซิ่งจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง กล่าวว่าไม่ควรให้แพนด้ายักษ์ทั้งสองสายพันธุ์ย่อยที่ถูกเลี้ยงไว้มีปฏิสัมพันธ์กัน เนื่องจากลูกแพนด้ายักษ์ที่เกิดจากพ่อแม่ระหว่างสองสายพันธุ์ย่อยนี้อาจมีความบกพร่องทางพันธุกรรม ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนและการอยู่รอดของแพนด้ายักษ์

อนึ่ง มณฑลส่านซีเปิดตัวโครงการระเบียงนิเวศวิทยาในปี 2018 เพื่อเชื่อมโยงแหล่งที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์อันกระจัดกระจายและส่งเสริมการถ่ายเทยีนในแพนด้ายักษ์ป่า ซึ่งฟางชี้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงแพนด้ายักษ์ป่าฝูงเล็กในเทือกเขาฉินหลิ่ง และเพิ่มเสถียรภาพของจำนวนแพนด้ายักษ์สายพันธุ์ฉินหลิ่ง แต่โครงการนี้ไม่ควรเชื่อมแหล่งที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์ทั้งสองสายพันธุ์ย่อยถึงกัน

ฟางเสริมว่าขั้นตอนสุดท้ายเพื่อปกป้องแพนด้ายักษ์คือการปล่อยพวกมันคืนสู่ป่าธรรมชาติ โดยผลการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่าโครงการเพาะพันธุ์ควรทำหน้าที่เพาะเลี้ยงลูกแพนด้ายักษ์ให้มีสุขภาพดีและแข็งแรงพอจะปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ จำนวนแพนด้ายักษ์เลี้ยงทั่วโลกอยู่ที่ 633 ตัวในปี 2020 ส่วนจำนวนแพนด้ายักษ์ป่ามีน้อยกว่า 2,000 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลซื่อชวนและมณฑลส่านซี

เทือกเขาฉินหลิ่งเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่พาดจากตะวันออกสู่ตะวันตกในมณฑลส่านซี ถือเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างตอนเหนือและตอนใต้ของจีน ส่วนมณฑลส่านซีมีพรมแดนติดกับมณฑลเสฉวนทางทิศใต้

 

(แฟ้มภาพซินหัว : แพนด้ายักษ์เลี้ยงในนครซีหนิง เมืองเอกของมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 21 พ.ย. 2020)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง