รีเซต

นายกฯ ร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งเป็นเจ้าภาพเอเปค 2565 ต่อจากนิวซีแลนด์

นายกฯ ร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งเป็นเจ้าภาพเอเปค 2565 ต่อจากนิวซีแลนด์
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2564 ( 08:40 )
126
นายกฯ ร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งเป็นเจ้าภาพเอเปค 2565 ต่อจากนิวซีแลนด์

วานนี้ (12 พ.ย.64) เวลา 20.45 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 ช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การฟื้นตัวจากโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับทุกคนและลูกหลานของเรา” ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

 

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 ในปี 2564 มีหัวข้อหลักคือ "ร่วมกัน ทำงาน เติบโตไปด้วยกัน" (Join, Work, Grow. Together.) โดย เอเปค ก่อตั้งเมื่อปี 2562 (ค.ศ. 1989) มีเป้าหมายหลักคือ ส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การรวมตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ร่วมมือทางด้านวิชาการ/การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิก

 

ปัจจุบันมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ และมีผู้สังเกตการณ์ 3 หน่วยงาน ในปี 2564 นิวซีแลนด์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคต่อจากมาเลเซีย และไทยจะเป็นเจ้าภาพต่อจากนิวซีแลนด์ในปี 2565 โดยไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำเอเปคเมื่อปี 2546

 

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวต้อนรับเข้าสู่การประชุม สำหรับของขวัญที่นิวซีแลนด์ได้มอบให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจคือ ผ้าพันคอ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากชนเผ่าเมารีเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวของคนหลายกลุ่ม สะท้อนว่าเรารวมตัวกันเพื่อร่วมมือกัน 

 

ส่วนจี้หยกสะท้อนจิตวิญญาณของนิวซีแลนด์ลวดลายมีความหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ด้วยกัน สร้างแนวทางใหม่ร่วมกัน ในช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่ต้องก้าวผ่านความแตกต่างเพื่อร่วมมือกันจัดการกับโรคโควิด-19 ผ่านความร่วมมือใหม่ไปสู่อนาคต 

 

ตลอดจนต้องแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิจิทัล การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และหาแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันโดยเฉพาะกับเยาวชน โดยนายกนิวซีแลนด์ได้เน้นย้ำความสำคัญของเวทีเอเปคเพื่อก้าวสู่อนาคตใหม่ร่วมกัน

 

นางคริสตาลีนา จอร์เจียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้แก่ 1) ความเหลื่อมล้ำโดยเห็นได้จากอัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งในหลายประเทศยังคงไม่ครอบคลุมโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย 

 

รวมทั้ง การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่จำเป็นต้องติดตามต่อไป 2) สภาวะเงินเฟ้อ ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่ากลางปีหน้าปัญหาเงินเฟ้อจะคลี่คลายลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ IMF ยังย้ำถึงการดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสภาพพูมิอากาศ โดยควรเน้นการตั้งเป้าหมายให้ประชากรโลกฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 40-70% ภายในกลางปี 2022 และกำหนดนโยบายในระดับท้องถิ่นซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน 

 

รวมทั้งเร่งฟื้นฟูการสภาพภูมิอากาศ IMF เห็นว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนต้องได้รับการแก้ไขระดับภาครัฐ และอาศัยความร่วมมือจากการลงทุนจากภาคเอกชน รวมทั้งปัญหาความยากจนก็ยังเป็นความท้าทายที่ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างครอบคลุม 

 

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า โลกกำลังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แม้ยังเผชิญกับความท้าทายจึงควรรีบตักตวงการใช้ประโยชน์ เพื่อเร่งฟื้นฟูและพลิกโฉมเศรษฐกิจไปสู่การเจริญเติบโตในระยะยาว โดยโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอ 3 ประเด็นที่เอเปคควรให้ความสำคัญ

 

ประการแรกที่เร่งด่วนที่สุด การรื้อฟื้นความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว ไทยเล็งเห็นประโยชน์ของการมีมาตรการด้านการเดินทางร่วมกันในภูมิภาค และมุ่งมั่นที่จะผลักดันประเด็นนี้อย่างเต็มที่ 

 

เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยมุ่งมั่นผลักดันให้มีการกลับมาเชื่อมโยงกันในภูมิภาค และจะร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไปในวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565

 

ประการที่สอง การกระตุ้นการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า เอเปคต้องสนับสนุนและส่งสัญญาณที่เข้มแข็งไปยังการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ที่กำลังจะจัดขึ้น ที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมดังกล่าว 

ประการที่สาม การพลิกโฉมเศรษฐกิจ เพื่อการเจริญเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม ซึ่งผู้นำโลกได้ย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันในการผลักดันการดำเนินการด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศที่การประชุม COP26 โดยไทยได้ประกาศเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

 

ตลอดจนได้ให้คำมั่นในการนำนวัตกรรมมาสนับสนุนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตสีเขียว ตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) 

 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 ที่จะนำประสบการณ์ของเอเปคใช้ประโยชน์ในการผลักดันภารกิจของเอเปคในเรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมให้มีความคืบหน้าต่อไป และกล่าวแสดงความยินดีกับทีมนิวซีแลนด์ 

 

สำหรับการทำงานที่ประสบความสำเร็จ โดยไทยมุ่งมั่นที่จะต่อยอดจากความสำเร็จของนิวซีแลนด์ และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเขตเศรษฐกิจทั้งหมดในปีหน้า เพื่อนำเอเปคไปสู่อนาคตหลังโควิด-19 ที่มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาค และประชาชนของเราต่อไป 

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวสนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐฯ และเปรูในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 มีเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 (APEC Leaders’ Declaration) และแผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. ๒๐๔๐ (APEC Putrajaya Vision 2040 Implementation Plan)

 

 

ข้อมูลจาก Thaigov

ภาพจาก Thaigov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง