รีเซต

ทำไมนวัตกรรมยางรถยนต์จึงมักเกิดขึ้นที่วงการมอเตอร์สปอร์ต?

ทำไมนวัตกรรมยางรถยนต์จึงมักเกิดขึ้นที่วงการมอเตอร์สปอร์ต?
แบไต๋
20 กันยายน 2566 ( 12:37 )
77

แบไต๋เคยพูดถึงนวัตกรรมยางของ Michelin ไปหลายครั้ง ครั้งหนึ่งทีมงานแบไต๋ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตยางรถยนต์ของ Michelin ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยกระบวนการผลิต ลดความผิดพลาดและสามารถผลิตยางได้เร็วขึ้นอีกด้วย

แต่ครั้งนี้เราได้มีโอกาสไปร่วมงาน Michelin Passion Experience 2023 งานใหญ่ประจำปีของ Michelin เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยางในสนามแข่ง The Bend Motorsport Park เป็นสนามแข่งรถที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ณ เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ผู้เข้าร่วมจะได้ขับรถสปอร์ตและ F4 ให้รู้กันไปเลยว่า ทำไมนวัตกรรมยางจึงมักเกิดในสนามแข่ง

ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมยางในวงการมอเตอร์สปอร์ตอยู่ที่ไหน คงต้องบอกว่าอยู่ที่ Le Mans ซึ่งเป็นการแข่งขันแข่งรถในสนามต่อเนื่องยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง คิดเป็นระยะทางกว่า 750 กิโลเมตรหรือมากกว่าที่ F1 แข่งกันถึง 2 เท่า ใครนึกไม่ออกไปดูหนังเรื่อง Ford vs Ferrari คงจะเห็นภาพการแข่งขัน Le Mans ชัดขึ้น

สนาม Le Mans นี้เกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสปี 1923 เป็นการแข่งขันเพื่อทดสอบขีดสุดของรถแข่ง ที่สามารถขับต่อเนื่องทั้งวันได้โดยไม่พัก พร้อมกับท้าทายประสิทธิภาพของคนขับ 3 คน ที่ขับวนสลับกันไปคนละ 4 ชั่วโมง ไปจนถึงการแก้ปัญหาของทีมงาน อุปกรณ์แต่งรถ ไปจนถึงยางรถยนต์ที่จะสามารถทนแรงเสียดทานและความร้อนได้ยาวนานพอหรือไม่ นี่จึงเป็นสนามที่ Michelin ค้นพบนวัตกรรมยางมานานกว่า 100 ปี

แล้ว Michelin ทำหน้าที่อะไรบ้างในการแข่งขัน Le Mans โดยปกติแล้ว Michelin จะสนับสนุนยางรถยนต์สำหรับมอเตอร์สปอร์ตให้แก่ทีมที่เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งยางรถนี้จะคัสตอมตามความเหมาะสมของแต่ละทีมที่แข่งขันในแต่ละสนาม อุณหภูมิในสนามแข่งไปจนถึงลักษณะของพื้นถนน ซึ่งทาง Michelin จะส่งยางรถให้ 3 ชุด แบ่งตามลักษณะของหน้ายางคือ Soft, Medium และ Hard พร้อมทั้งมีทีมงาน Michelin ประจำทีมแข่ง 1 คน เพื่อรายงานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับยางระหว่างแข่งขัน

โดยตัวยางของ Michelin ทุกเส้นจะมีชิปขนาดเล็กอยู่ด้านใน เพื่อใช้วัดอุณหภูมิของตัวยาง ซึ่งปกติอยู่ที่ประมาณ 90 – 130 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ใช้ในการแข่งขัน ยิ่งอุณหภูมิสูงต่อเนื่องยางก็ยิ่งสึกไว นักแข่งรถจึงมีหน้าที่ในการบริหารยางของตัวเองด้วย นอกจากนี้หลังจากแข่งขันเสร็จทีมงานจะเก็บยางทุกเส้นที่เบิกออกไปคืน เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาต่อ แม้แต่ยางที่ระเบิดหรือสิ้นสภาพไปแล้วก็ต้องนำกลับมาคืนด้วย นี่คือข้อกำหนดอันเข้มงวดจาก Michelin

จุดนี้เองที่ Michelin นำมาตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมยางในงาน Michelin Passion Experience ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาคนที่หลงใหลในความเร็วและกีฬามอเตอร์สปอร์ต ได้มาร่วมทดสอบยาง Michelin พร้อมเรียนรู้ว่ามอเตอร์สปอร์ตเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมที่ยั่งยืนได้อย่างไร ภายใต้แฮชแท็ก #Weraceforchange หรือติดตามภาพสวย ๆ ในกิจกรรมนี้ได้ผ่าน #MPE2023

ในปีนี้ทาง Michelin เขาออกแบบกิจกรรมมาให้ร่วมสนุก ไล่ระดับความมันตั้งแต่ การเปลี่ยนยางที่เกิดขึ้นใน Pit Stop จริง ๆ ที่ความเร็วเป็นหัวใจสำคัญของหน้าที่นี้ ต่อด้วยการขับขี่รถสปอร์ต Porsche 718 Cayman มาพร้อมยาง Michelin Pilot Sport 4S ในสนาม The Bend Motorsport Park ที่ช่วยยึดเกาะพื้นได้ดี แม้จะฝนมากวนใจบ้างก็ตาม

จากนั้นไปต่อกันที่รถ F4 หรือ Formular 4 รถขนาดรองจาก F1 คงไม่บ่อยนักที่จะได้มีโอกาสควบรถแข่งในสนามแข่งระดับประเทศแบบนี้ถ้าไม่ได้มากับ Michelin ซึ่ง F4 มาพร้อมยางสลิคที่หนึบแน่น แม้จะมีฝนโปรยก่อนเปิดสนามไม่นานก็ยังขับขี่ได้อย่างมั่นใจ และมันสุด ๆ กับการขับรถแรลลี่ Subaru Impreza WRX ที่ติดตั้งยาง Michelin LTX FORCE T91 พร้อมเทคโนโลยีการยึดเกาะล่าสุด ทำให้เราได้รู้สึกเหมือนกับการดริปต์รถจริง ๆ ในสนามโคลน

ปิดท้ายด้วยการขับ Hotlab โดยนักแข่งรถมืออาชีพ ที่จะพาเรานั่งบน Porsche GT3 Cup และ Radical SR3 พร้อมพาเราซิ่งด้วยความเร็วทะลุ 200 กม./ชม. สัมผัสช่วงล่างสุดนุ่มนวลจาก Porsche และความดุดันปะทะสายลมของ SR3 เข้าโค้งอย่างเฉียบคมและมั่นใจในการยึดเกาะถนน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและหาซื้อไม่ได้จริง ๆ

นอกจากเรื่องประสิทธิภาพของยางแล้ว Michelin ยังใช้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอีกด้วย โดยเฉพาะการรีไซเคิลยางรถแข่งให้สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้แบบ 100% ภายในปี 2050 ซึ่งในปีที่ผ่านมา Michelin สามารถทำยางรถแข่งรีไซเคิลได้ถึง 53% และเพิ่มขึ้นเป็น 63% ในปี 2023 ขณะที่คุณภาพของตัวยางยังใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิม

ที่ Michelin ทำได้เช่นนั้นเพราะมีแล็บสำหรับทดสอบยางโดยเฉพาะ ซึ่งช่วยลดเวลาในการออกแบบ ทั้งยังผลิตและทดสอบได้ในที่เดียว อย่างไรก็ตามในเวลานี้การรีไซเคิลยางยังเกิดขึ้นกับยางรถแข่งเท่านั้น แต่หากพูดถึงยางรถยนต์ในชีวิตประจำวันที่สามารถรีไซเคิลยังถือว่าน้อยอยู่ ซึ่ง Michelin ตั้งเป้ารีไซเคิลยางทุกประเภทให้ได้ 40% ขึ้นไปภายในปี 2030 แม้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างท้าทาย แต่ก็ทำให้เห็นว่า Michelin เอาจริงเอาจังแค่ไหนในเรื่องนี้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง