รีเซต

รอดูโฉมหน้าศูนย์ฟื้นฟูศก.สู้พิษโควิด-สัปดาห์หน้าลุ้นข่าวดีผ่อนปรนญี่ปุ่นเดินทางเข้าไทย

รอดูโฉมหน้าศูนย์ฟื้นฟูศก.สู้พิษโควิด-สัปดาห์หน้าลุ้นข่าวดีผ่อนปรนญี่ปุ่นเดินทางเข้าไทย
มติชน
11 กรกฎาคม 2563 ( 08:34 )
63

 

วันที่ 11 กรกฎาคม ต้องติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ตั้งขึ้นในการประชุมทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการประชุมแทนครม.เศรษฐกิจ ที่เลื่อนออกไป เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า นายกฯได้หารือกับทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในการทำงานรูปแบบใหม่ หรือ นิว นอร์มอล เป็นการหารือแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกฯได้รับฟังข้อคิดเห็นจากทุกคนเพื่อที่จะหาทางออกในการดูแลเศรษฐกิจหลังจากได้รับกระทบของโควิด-19

 

“นายกฯสั่งให้ตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งจะนำมาพิจารณาในส่วนกฎหมายว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร และได้สั่งในการหาข้อมูล รวมถึงทีมให้รวดเร็วเพื่อติดตามปัญหาต่างๆ ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยลดระดับลงไปแล้ว ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้อย่างเป็นระบบ เพราะประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบจากสภาพคล่อง เราจะจัดตั้งศูนย์เน้นในเรื่องของเศรษฐกิจ”นายกอบศักดิ์กล่าว

 

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังนายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าพบว่า ญี่ปุ่นได้สอบถามถึงความคืบหน้า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะโครงการที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน เช่น โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยทางญี่ปุ่นแสดงความพอใจการดำเนินนโยบายพัฒนาพื้นที่อีอีซี ของไทย

 

“สำหรับการเดินทางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ทั้งทางอากาศและทางน้ำนั้น ที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศมีการเจรจากันมาตลอด ในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนถึงมาตรการผ่อนปรนการในการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการเดินทางเข้ามาดูแลธุรกิจที่ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งท่านทูตญี่ปุ่นยืนยันว่า นักลงทุนของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาไทย จะตรวจสุขภาพจากต้นทางที่ญี่ปุ่น มีการซื้อประกันวงเงิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ และเมื่อเข้ามาถึงไทยก็ต้องรับการตรวจเชื้ออีก หากเงื่อนไขที่จะทำกับญี่ปุ่นเป็นผลดี จะนำไปใช้เป็นข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ต่อไป”นายศักดิ์สยามกล่าว

 

ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความคืบหน้าการจับคู่ประเทศท่องเที่ยวระหว่างกัน(แทรเวล บับเบิล)ว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ ประชุมร่วมกับศบค.ชุดเล็กทุกวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อนำเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา หากผ่านก็จะเสนอ ครม.ต่อไป

 

“ในระยะเริ่มต้นมีข้อกำหนดสำคัญคือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาต้องอยู่ในประเทศไทยเกิน 14 วัน จะจำกัดพื้นที่การเดินทางท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพงัน เพื่อให้สาธารณสุขควบคุมดูแลได้ ถือเป็นการกักตัวดูอาการไปในตัว จากนั้นจะตรวจหาเชื้อหากยืนยันว่าไม่พบเชื้อโควิด-19 ถ้าต้องการเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นในไทย ก็สามารถแจ้งความต้องการเข้ามา เพราะการันตีแล้วว่าไร้เชื้อโควิด-19 อย่างแท้จริง”นายพิพัฒน์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง