รีเซต

“แมวก็กลัวตกข่าวนะ” ไม่ชอบให้ทาสปิดประตูใส่ ถึงขั้น “ทำสงคราม” กับประตู

“แมวก็กลัวตกข่าวนะ” ไม่ชอบให้ทาสปิดประตูใส่ ถึงขั้น “ทำสงคราม” กับประตู
TNN ช่อง16
31 สิงหาคม 2567 ( 11:10 )
17

พวกมันอาจเริ่มเอาอุ้งเท้าพร้อมกับขนนุ่ม ๆ แหย่ตามร่องประตู แล้วค่อย ๆ ตะปบ ข่วน หรือ แม้กระทั่งโจมตีใส่ประตู พร้อมส่งเสียงร้องเหมียวออกมา ราวกับว่า พวกมันกำลังทำศึกสงครามกับศัตรูที่อยู่ตรงหน้า เล่นเอาบรรดาทาสถึงกับงงงวยว่า เจ้านายของพวกเขา โกรธประตูอะไรขนาดนี้


แล้วทำไมแมวเหมียวเหล่านี้ ถึงเกลียดการปิดประตูใส่กันนะ ? 


---แมวกลัวตกข่าว---


แมวเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ และพวกมันชอบให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในอาณาเขตของพวกมันอยู่ในสายตาตลอดเวลา ซึ่งนั่นรวมถึงบ้านของบรรดาทาสด้วย  


ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า สาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ มีรากฐานมาจากทั้งวิวัฒนาการ และอิทธิพลจากเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเรื่องความอยากรู้อยากเห็นของบรรดาแมวทั้งหลาย ซึ่งเป็นสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอดของสายพันธุ์


“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น และกลัวที่จะตกข่าวอะไรไป” ดร.คาเรน ซูดา นักพฤติกรรมสัตวแพทย์ กล่าว 


“แมวเป็นพวก FOMO นิดหน่อย FOMO แบบว่า ฉันไม่รู้ว่าอีกฝั่งเกิดอะไรขึ้น และฉันอยากจะเห็น และต้องการที่จะค้นหาสิ่งนั้น” ซูดา กล่าว 


ทั้งนี้ คำว่า FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out เป็นพฤติกรรมของบุคคลที่กลัวการตกกระแส กลัวพลาดข่าวสารที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในสื่อโซเชียล 


---สัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอด---


การควบคุมนี้ เป็นพฤติกรรมที่ทำให้พวกมันมีชีวิตรอดอยู่ในป่าได้ ซึ่งเดิมทีแมวเคยอาศัยอยู่ในป่า ก่อนที่จะมากลายเป็นสัตว์เลี้ยงให้กับมนุษย์ในปัจจุบัน 


แม้พฤติกรรมนี้จะถูกส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น และเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมแมว แต่สำหรับมนุษย์ การกระทำของแมวเช่นนี้ อาจดูแปลกประหลาด เช่น จู่ ๆ แมวก็โจมตีใส่ประตูที่ปิดสนิท


อินกริด จอห์นสัน ที่ปรึกษาพฤติกรรมแมว กล่าวกับเว็บไซต์ Live Science ว่า แมวเป็นสัตว์ที่ชอบควบคุมการเข้าถึงพื้นที่ ความต้องการขั้นพื้นฐาน และอาณาเขตที่สำคัญ


“พฤติกรรมนี้ ไม่ได้ทำให้พวกมันเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ไม่ได้ทำให้พวกมันเป็นอย่างอื่น นอกจากเป็นสายพันธุ์ที่เป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า ที่ต้องล่าเพื่อความอยู่รอด แต่ก็ยังต้องรู้สึกปลอดภัยในสภาพแวดล้อมของพวกมันด้วย” เขา กล่าว 


---“สาม C ยอดแย่” ที่แมวไม่ชอบ--- 


การปิดประตูใส่แมว กระทบกับสิ่งที่นักพฤติกรรมแมว อย่าง เจน เออร์ลิช เรียกว่า “three terrible C” หรือ “สาม C ยอดแย่” ที่แมวไม่ชอบ ได้แก่


  1. Choice: แมวไม่ชอบการไม่มีตัวเลือก 

  2. Control: แมวไม่ชอบสิ่งที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้

  3. Change: แมวเกลียดการเปลี่ยนแปลง 


แม้แมวจะมีสิ่งที่ไม่ชอบการควบคุม ไม่ชอบการไม่มีตัวเลือก และเกลียดการเปลี่ยนแปลง แต่แมวไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมหลังประตูนั้น พวกมันแค่ต้องการจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเท่านั้นเอง 

แมวยังชอบเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ ฉะนั้น การปิดประตูใส่มัน เท่ากับเป็นการปิดกั้นพวกมัน ส่งผลให้ประตูที่อยู่ตรงหน้า กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจในทันที 


---แมวเครียดเมื่อถูกควบคุม--- 


ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Behavioural Processes เมื่อปี 2017 เผยว่า แมวส่วนใหญ่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่าสิ่งเร้าอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงอาหาร และของเล่น และแมวไม่เข้าใจว่า การปิดประตูใส่เป็นการกระทำเพียงชั่วคราวเท่านั้น


“พวกมันรู้ว่าจุดที่พวกมันเคยอยู่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย เป็นที่หลับนอน ที่กิน หรืออะไรก็ตาม ในตอนนี้ได้ถูกพรากออกไปจากพวกมัน เมื่อเราควบคุมสิ่งต่าง ๆ กับแมวของเรา มันก็จะสร้างความเครียดให้กับพวกมัน” จอห์นสัน กล่าว 


เพื่อลดความวิตกกังวลให้กับบรรดาเจ้านาย เหล่าทาสควรที่จะรักษาพื้นที่การเข้าถึงให้กับแมวอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น หากคุณไม่ต้องการให้มีขนอยู่ทั่วห้องอาหาร คุณไม่ควรปิดกั้นพื้นที่นี้เฉพาะแค่มีแขกมาเยี่ยมบ้านเท่านั้น แต่ต้องให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับแมวตลอดเวลา 


“การเรียกร้องความสนใจของแมวหลังประตูถูกปิดลง บางครั้งอาจส่งสัญญาณว่า พวกมันกำลังทนทุกข์ทรมาน หรือ เจ็บป่วยอยู่จริง ๆ พฤติกรรมบางอย่าง เช่น ส่งเสียงร้องอย่างบ้าคลั่ง, หูแบน และส่งเสียงฟู่ นั่นอาจบ่งชี้ว่า แมวของคุณกำลังหัวเสียจริง ๆ” ซูดา กล่าว 


ซูดา แนะนำด้วยว่า ถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยงกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของแมว พวกเขาสามารถพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรักษาปัญหาด้านสุขภาพ 


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.livescience.com/animals/domestic-cats/why-do-cats-hate-closed-doors

https://www.businessinsider.in/science/news/cats-hate-closed-doors-because-they-get-fomo-experts-say/articleshow/112833221.cms

ข่าวที่เกี่ยวข้อง