สหรัฐฯ จับมือออสซี่ สร้างเรือดำน้ำไร้คนขับ แต่ดำแบบปล่อยน้ำไหลผ่านไปเลย !
เรือดำน้ำเป็นยานพาหนะที่สามารถขับเคลื่อนใต้น้ำได้ โดยมีหลักการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงความดันภายในตัวเรือสำหรับการยกตัวขึ้นหรือทิ้งตัวลงในน้ำ ต่อมาการพัฒนาก็กลายเป็นเรือดำน้ำแบบไร้คนขับ หรือที่เรียกว่า AUV (Autonomous Underwater Vehicle) ก็ยังคงใช้หลักการนี้ แม้ว่าจะลดขนาดและต้นทุนการก่อสร้างจากการไม่ต้องมีห้องโดยสาร แต่บริษัทอาวุธจากสหรัฐฯ ก็ยังมองว่ามีต้นทุนสูงและขาดประสิทธิภาพ ทางบริษัทจึงได้จับมือกับกองทัพเรือของออสเตรเลียในการเปลี่ยนวิถีแห่งเรือดำน้ำให้น้ำท่วมตัวเรือแทน
บริษัทดังกล่าวมีชื่อว่าแอนดูริล (Anduril) สตาร์ตอัปด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้แถลงข่าวเปิดตัวต้นแบบเรือดำน้ำไร้คนขับขนาดยักษ์ (Extra-Large Autonomous Undersea Vehicle : XL-AUV) ให้กับราชนาวีแห่งออสเตรเลีย เพื่อสนับสนุนภารกิจการลาดตระเวน การหาข่าวกรอง ตลอดจนภารกิจตรวจจับและทำลายกับดัก เช่น ระเบิดใต้ทะเล
รายละเอียดเรือดำน้ำไร้คนขับแบบใหม่
เรือต้นแบบของแอนดูริล (Anduril) โครงสร้างใช้อะลูมิเนียมเพื่อลดน้ำหนัก โดยให้ระบบนำทาง ระบบควบคุมสั่งการ พื้นที่เก็บสัมภาระ (Payload) และแบตเตอรี่ซึ่งได้รับการออกแบบให้ทนความดันนั้นอยู่ในส่วนของหัวเรือ และที่ส่วนกลางของเรือดำน้ำสามารถออกแบบให้ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษสำหรับภารกิจที่ทางกองทัพระบุได้ นอกเหนือจากนั้นจะเป็นส่วนที่ปล่อยให้น้ำท่วมและไหลผ่านได้อย่างอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องของการควบคุมระดับความดันภายในตัวเรือแต่อย่างใด
เรือต้นแบบใหม่นี้ยังสามารถดำน้ำลึกได้ถึง 6,000 เมตร โดยทางบริษัท แอนดูริล (Anduril) จะนำระบบปฏิบัติการแลททีซ (Lattice OS) ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้การสั่งการของระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ เพื่อให้ตัวเรือสามารถปฏิบัติภารกิจด้วยตัวเอง รวมถึงการควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ภายในตัวเรือ ได้ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับภาคพื้นดินหรือกองบัญชาการถึง 10 วัน ตามขนาดความจุของแบตเตอรี่
XL-AUV ต้นแบบของแอนดูริล (Anduril) จะเข้าประจำการในกองทัพเรือของออสเตรเลียในอีก 3 ปี ข้างหน้า แต่มีข่าวออกมาว่าระบบการปล่อยน้ำท่วมในตัวเรือ (ซึ่งไม่ใช่ถังอับเฉา) นั้นเป็นส่วนที่ยากที่สุดในกระบวนการผลิตของเรือ แต่ทางบริษัทยืนยันว่าปัญหาส่วนดังกล่าวนั้นได้รับการแก้ไขแล้ว แต่ไม่มีการให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ Anduril