จาตุรนต์ แนะรัฐ ดูตปท. ขยายมาตรการเยียวยา อย่าให้มีคำถาม คนไม่ควรได้ ทำไมได้
จาตุรนต์ แนะรัฐ ดูโมเดลตปท. เร่งขยายมาตรการเยียวยา อย่าทำให้คนรู้สึกว่า ทำไมคนที่ไม่ควรได้กลับได้
วันนี้ (10 เม.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อมาตรการเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาลว่า “มาตรการเยียวยา 5,000 บาทที่กำลังทำอยู่กำลังเป็นปัญหาอย่างหนัก รัฐบาลจะต้องรีบแก้ไขให้ตรงจุด และดำเนินการโดยด่วน มาตรการนี้ตั้งเป้าแคบเกินไปไม่สอดคล้องกับจำนวนประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งมีมากกว่าเป้าหลายเท่า ขณะนี้การดำเนินการยังล่าช้ามากประชาชนที่ตกงานหยุดงานขาดรายได้มีจำนวนมากและอยู่กันโดยไม่มีเงินใช้มากว่าครึ่งเดือนแล้ว แม้แต่คนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายก็ยังเจอกับปัญหาหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน และการคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดความรู้สึกกันว่า คนที่ไม่ควรได้ทำไมได้ คนที่ควรได้กลับไม่ได้ หากรัฐบาลแก้ปัญหานี้ล่าช้า และไม่รีบขยายมาตรการให้ครอบคลุมคนให้มากกว่านี้โดยเร็ว จะทำให้ประชาชนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเดือดร้อนอย่างหนัก จนกลายความโกลาหลวุ่นวายครั้งใหญ่”
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จุดแตกต่างจากมาตรการของหลายประเทศคือของไทยไม่ได้พยายามชะลอการปิดกิจการและการปลดหรือเลิกจ้างคนงานด้วยการร่วมมือสนับสนุนภาคเอกชน อยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ในการออกมาตรการต่อๆไป การดำเนินมาตรการนี้กำลังตามหลังสถานการณ์หลายก้าวเนื่องจากเป็นมาตรการแบบตั้งรับคือสั่งปิดสถานที่ต่างๆไปก่อนค่อยมาคิดมาตรการตามหลัง มาตรการนี้เน้นดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานที่ และการหยุดกิจการต่างๆ ต่อมากิจการที่ไม่ถูกสั่ง แต่ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จากพวกที่ถูกสั่งปิดก็ปิดตัวเองเพราะอยู่ไม่ได้ คนหาเช้ากินค่ำจำนวนมากก็ไม่มีรายได้ จำนวนผู้เดือดร้อนจึงมากกว่าที่คำนวณไว้ นอกจากนี้ยังมีกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจโลกเช่นการส่งออกและโดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งรายได้ขาดหายไปมหาศาล คนเดือดร้อนยิ่งมากขึ้น แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการของรัฐบาล
“สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือรีบคัดกรองคนให้เร็วด้วยหลักเกณฑ์ที่โปร่งใสชัดเจน รีบส่งเงินให้โดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็วางแผนออกมาตรการที่ดูแลผู้ที่เดือดร้อนที่อาจมีจำนวนมากกว่ากลุ่มเป้าหมายนี้อีกหลายเท่า โดยเร็ว หากศึกษาจากประเทศต่างๆจะพบว่าการดูแลผู้เดือดร้อนครอบคลุมกว้างขวางกว่าของไทยเรามาก”
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สำหรับจำนวนเงิน 5,000 บาทนั้น หากเทียบกับการแจกเงินในโครงการก่อนๆ อาจฟังดูเหมือนเป็นเงินมาก แต่โครงการก่อนการเลือกตั้งเป็นการแถมเงินให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่เดือดร้อนมากกว่า เพราะกิจการต่างต้องปิดและคนทำมาหากินไม่ได้เลย สังคมในปัจจุบันเมื่อประชาชนกลับไปต่างจังหวัดไม่มีงานทำก็อยู่ไม่ได้เหมือนสมัยก่อนแล้ว อย่าไปคิดว่านี่เป็นลาภที่ไม่ควรได้ ระยะหนึ่งยังต้องคิดว่าเมื่อ 5,000 บาทต่อเดือนไม่พอใช้ รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร ถ้าต้องเพิ่มเงินขึ้นอีกจะเอาเงินมาจากไหน หากศึกษาจากมาตรการเยียวยาในหลายประเทศจะพบว่า มีจุดแตกต่างจากประเทศไทยที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือเขาจะเน้นการร่วมมือกับภาคเอกชนในการดูแลพนักงานลูกจ้าง คือหาทางช่วยให้กิจการต่างๆไม่ต้องล้มหรือหยุดไป หากต้องหยุดชั่วคราวก็ยังไม่ปลดหรือเลิกจ้างคนงานด้วยการช่วยเอกชนจ่ายเงินค่าจ้าง วิธีนี้จะทำให้คนตกงานน้อยลง กิจการที่ปิดแล้วจะเปิดใหม่ก็ไม่ยาก เศรษฐกิจเดินได้และภาระของรัฐบาลในการดูแลคนตกงานก็น้อยลง
“ส่วนการที่มีการขู่จะดำเนินคดีกับผู้ที่สมัครขอรับเงินทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่า ตนเองไม่มีสิทธิ์นั้น รัฐบาลคงต้องรีบทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบว่า ไม่ควรจะไปเล่นงานเอาเป็นตายกับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนกันอยู่ทั้งนั้น ในเวลานี้คนที่ไม่มีจะกิน ไม่มีนมเลี้ยงลูก ใครๆก็ต้องการเงินใช้ เงิน 5,000 บาทนี้เป็นค่าเยียวยาที่ประชาชน ถ้าเขาคิดว่ามีสิทธิ์ได้รับเงินแล้วสมัครมาแต่ตรวจแล้วว่าไม่มีสิทธิ์อย่างมากก็แจ้งเขาไป และหากเดือดร้อนมีคนจำนวนมากๆ แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ รัฐบาลก็ควรขยายหลักเกณฑ์ให้กว้างขึ้น”