รีเซต

โควิด-19 : WHO ชี้ "ภัยแฝด" โอมิครอน+เดลตา ทำยอดผู้ติดเชื้อในยุโรป-สหรัฐฯ พุ่ง

โควิด-19 : WHO ชี้ "ภัยแฝด" โอมิครอน+เดลตา ทำยอดผู้ติดเชื้อในยุโรป-สหรัฐฯ พุ่ง
ข่าวสด
31 ธันวาคม 2564 ( 00:43 )
59

การระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอีกหลายชาติในยุโรป พุ่งทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าภาวะการระบาดใหญ่จะไม่ยุติ หากชาติรวยยังแย่งวัคซีนชาติจนมาฉีด

 

นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวเมื่อ 29 ธ.ค. ว่า การแพร่กระจายร่วมกันของสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์โอมิครอนคือ "ภัยแฝด" ที่กำลังสร้าง "สึนามิ" แห่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ "กำลังเพิ่มความกดดันอันหนักหน่วงแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เหนื่อยล้า และระบบสาธารณสุขที่ใกล้เข้าสู่ภาวะล่มสลาย"

 

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ประมาณการว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันขณะนี้อยู่ที่ราว 900,000 คน

แม้มีรายงานการศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ว่าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรงเท่าเชื้อเดลตา แต่ยังมีความเป็นห่วงกันว่าจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอาจสูงจนเกินขีดความสามารถที่จะรับได้ ขณะที่องค์การอนามัยโลก เตือนว่าความเสี่ยงจากเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้ "ยังมีอยู่สูง"

 

E

ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มทั่วโลก

รายงานของ WHO ที่เผยแพร่เมื่อ 28 ธ.ค. ระบุว่า ยอดผู้เชื้อใหม่เมื่อ 26 ธ.ค. ในยุโรปเพิ่มขึ้น 57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนในทวีปอเมริกาทั้งหมดเพิ่มขึ้น 30%

 

แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า การระบาดของเชื้อโอมิครอนในสหรัฐฯ จะถึงจุดสูงสุด ณ สิ้นเดือน ม.ค. โดยคาดการณ์จากขนาดประชากรและอัตราการฉีดวัคซีน

 

หลายประเทศที่ร่ำรวยต่างระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้พลเมืองของตัวเอง ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักรที่มีผู้ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้วถึง 57% ของประชาชนอายุ 12 ปี ขึ้นไป

 

ทว่า นพ. เทดรอส เห็นว่า การระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นการใหญ่ของชาติที่มีฐานะดี "มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการยืดภาวะการระบาดใหญ่ออกไป" เนื่องจากจะเป็นการดึงปริมาณวัคซีนจากประเทศที่ยากจนกว่า และมีอัตราการฉีดวัคซีนน้อยกว่าไป ดังนั้น "จึงเปิดโอกาสให้ไวรัสได้แพร่กระจายและกลายพันธุ์"

 

เขาจึงเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันตั้งปณิธานปีใหม่ด้วยการผลักดันให้ทั้งโลกมีอัตราเฉลี่ยการฉีดวัคซีนที่ 70% ภายในกลางปี 2022 ขณะที่ในปัจจุบัน ยังมีอีกเกือบ 100 ประเทศที่ยังไปไม่ถึงเป้าเดิมที่ตั้งไว้คือมีอัตราเฉลี่ยการฉีดวัคซีนที่ 40% ของประชากรตัวเอง

ส่วนของประเทศไทย สัดส่วนการฉีดเข็ม 1 ต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 71.1%

 

ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเมื่อ 29 ธ.ค. ในหลายประเทศทำสถิติใหม่

  • ฝรั่งเศส ติดเชื้อ 208,000 ราย สูงสุดเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ในจำนวนนี้ 53 คนอยู่ในไอซียู และตาย184 คน
  • สหราชอาณาจักร ติดเชื้อ 183,037 ราย ตาย 57 คน
  • อิตาลี เพิ่มเป็น 98,020 คน จาก 78,313 คน เมื่อ 28 ธ.ค.
  • เดนมาร์ก ทำสถิติใหม่ที่ 23,228 ราย ในจำนวนนั้น มีถึง 1,205 คนที่เคยติดมาแล้ว
  • โปตุเกส เพิ่มเป็น 26,867 ราย จาก 17,172 ราย วันก่อนหน้า
  • กรีซ ทำสถิติใหม่ที่ 28,828 ราย
  • ออสเตรเลีย สูงสุดเป็นวันที่ 2 ที่ 18,241 คน เพิ่มจากวันก่อนหน้าที่ 11,300 คน
  • สหรัฐฯ มีสถิติใหม่สำหรับค่าเฉลียรายวันในรอบสัปดาห์ที่ 265,427 คน

 

ในประเทศไทย

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินระบุ ในการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 30 ธ.ค. ว่า ข้อมูลจนถึง 22.00 น. ของ 29 ธ.ค. ไทยมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสมแล้ว 934 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ 577 รายและผู้ติดเชื้อในประเทศ 357 ราย

สำหรับข้อมูลผู้เดินทางเข้าประเทศภายในเดือน ธ.ค. นี้ มีทั้งสิ้น 270,851 ราย กว่า 227,604 รายเข้ามาด้วยระบบ Test&Go ซึ่งพบการติดเชื้อไปแล้ว 730 ราย คิดเป็น 0.32%

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีผู้เดินทางเข้าไทยมากที่สุด แต่การพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในกลุ่มผู้เดินทางนั้นมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อ 1.35% รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง