รีเซต

คนพิการเฮ! ครม.เคาะ จ่ายเงินเยียวยา 1,000 บาท 2 ล้านรายทั่วปท.

คนพิการเฮ! ครม.เคาะ จ่ายเงินเยียวยา 1,000 บาท 2 ล้านรายทั่วปท.
มติชน
6 พฤษภาคม 2563 ( 14:27 )
22.7K
18

คนพิการเฮ! ครม.เคาะ จ่ายเงินเยียวยา 1,000 บาท 2 ล้านรายทั่วปท.

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวในการแถลงข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบปัญหาทางสังคมและมาตรการช่วยเหลือผู้พิการ ว่า กระทรวงพม. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ไปแล้วในหลายภาคส่วน อาทิ มาตรการลดภาระทางด้านการเงิน ลดค่าเช่าบ้านของผู้มีรายได้น้อยจากการเคหะแห่งชาติ ลดค่าผ่อนที่อยู่อาศัยของบ้านมั่นคงจากสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน ลดหนี้กองทุน หนี้กู้ยืมต่าง ๆ ที่กระทรวงดูแล ทั้งในส่วนของผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนต้องนำของมาจำนำในโรงรับจำนำของรัฐ จะได้รับการลดดอกเบี้ยและยืดอายุตั๋วจำนำ ไม่ต้องรีบหาเงินมาผ่อนในช่วงนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพม. มีมาตรการใหม่ในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในการดูแลสวัสดิการของกลุ่มต่างๆ ดังนี้

กลุ่มผู้พิการ ซึ่งได้รับเบี้ยคนพิการ รายละ 800 บาทต่อเดือนตามปกตินั้น ล่าสุด ทางครม.มีมติเห็นชอบให้ผู้พิการที่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ และมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเบี้ยรายเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท เริ่มจ่ายในเดือนตุลาคม 2563

ขณะเดียวกันในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดนี้ ครม.มีมติเห็นชอบให้ กองทุนคนพิการจ่ายเงินเยียวยาความเดือดร้อนของผู้พิการ 2 ล้านคนที่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ รายละ 1,000 บาท จำนวน 1 ครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานของกระทรวงพม.และกระทรวงการคลัง เพื่อให้จ่ายเงินเข้าในระบบบัญชีที่ผู้พิการใช้รับเบี้ยคนพิการทุกเดือน และคาดว่าจะได้รับเงินเยียวยาในเดือนนี้

ในด้านของ เด็กอ่อน สายด่วนพม. รับแจ้งเรื่องเดือดร้อนมากที่สุดคือ เด็กอ่อนไม่มีนมทาน เนื่องจากปกติได้รับการดูแลจากศูนย์เลี้ยงเด็กที่ในขณะนี้ต้องปิดให้บริการ กระทรวงพม.จึงจัดสรรเงินจากกองทุนคุ้มครองเด็กพร้อมเปิดรับบริจาค เด็กที่เคยได้รับการดูแลในศูนย์เลี้ยงเด็กก็จะได้รับนมผงจัดส่งถึงบ้าน นอกจากนี้ผู้ปกครองบางส่วนได้เริ่มกลับไปทำงานแล้ว จึงได้รับความเดือดร้อนจากการที่ศูนย์เลี้ยงเด็กยังไม่เปิด ทางกระทรวงจึงเริ่มทำระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางสำหรับศูนย์เลี้ยงเด็กร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและอาจจะกลับมาเปิดทำการได้

ส่วนด้าน ผู้สูงอายุ กระทรวงได้ทำเป็นคู่มือเพื่อไกด์ไลน์วิธีดูแลตัวเอง ซึ่งในจุดนี้ยังไม่มีผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลติดเชื้อโรคโควิด-19

นายปรเมธี กล่าวอีกว่า ขณะนี้สายด่วน พม. 1300 มีผู้โทรเข้ามาร้องทุกข์จำนวนมาก ประมาณ 2 หมื่นสายต่อวัน จนต้องขยายคู่สาย และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ ซึ่งความเดือดร้อนส่วนมากเกี่ยวกับสิ่งของอุปโภคบริโภค รายได้ลดลง และชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งทางกระทรวงก็มีโครงการ “สำรวจพบ จบที่ชุมชน” เป็นการใช้คนเป็นฐานในการดูแลชุมชนร่วมกัน โดยขณะนี้มีชุมชนแออัดที่กระทรวงดูแลอยู่ประมาณ 286 ชุมชนในกรุงเทพมหานคร มีการลงพื้นที่สำรวจความต้องการ เพื่อสนับสนุนและดูแลให้เหมาะสมกับความต้องการ อาทิ 230 ชุมชนมีความต้องการเรื่องอาหาร จึงจัดตั้งครัวกลาง ปรุงอาหารเพื่อให้ปชช.สามารถมารับได้เลย หรือ ฟู้ด แบงค์ ที่มารับวัตถุดิบไปทำอาหารเองที่บ้าน เพราะบางชุมชนต้องการการสนับสนุนแค่ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ไม่ต้องไปทำงาน รวมไปถึงบางชุมชนที่ขาดแคลนต้องการการสนับสนุนทุกเย็น นอกจากนี้กระทรวงพม.ยังร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดูแลชุมชนอีกกว่า 2,000 แห่ง ขณะที่ในต่างจังหวัดจัดให้มีการดูแลในรูปแบบที่คล้ายกันนี้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของ กลุ่มคนไร้บ้าน ที่หลายส่วนกังวลว่าจะเป็นกลุ่มแพร่เชื้อ ปลัดกระทรวงพม. กล่าวว่า สถานการณ์คนไร้บ้านดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ จากการชักชวนคนไร้บ้านให้เข้ามาอยู่ในการดูแลของกระทรวง ในกทม.เพิ่มขึ้น 200 ราย ในต่างจังหวัด 500 ราย แต่ยังมีบางส่วนที่สะดวกกับการใช้ชีวิตอิสระข้างนอก ซึ่งทางกระทรวงก็ได้แจกหน้ากากอนามัย แอลกอฮลล์ ให้ความรู้ในการดูแลป้องกันตัวเองให้กับคนเร่ร่อน เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและคนในสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง