รีเซต

ความสุขของคนไทย อยากให้รัฐบาลหามาตรการลดค่าครองชีพ-มีวันหยุดยาวเพิ่มขึ้น

ความสุขของคนไทย อยากให้รัฐบาลหามาตรการลดค่าครองชีพ-มีวันหยุดยาวเพิ่มขึ้น
TNN ช่อง16
4 พฤษภาคม 2568 ( 11:21 )
17

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ความสุขของคนไทย อะไรทำให้คนไทยมีความสุข กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,109 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา

กว่า 6 ใน 10 คน ระบุว่าตนเอง มีความสุขดี

ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม กว่า 6 ใน 10 คน หรือร้อยละ 61.8 ระบุว่าตนเองมีความสุขดีซึ่งสะท้อนถึงพลังทางบวกที่ยังคงมีอยู่ในสังคม แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีร้อยละ 23.1 สุขปานกลาง ในขณะที่กลุ่มที่สุขน้อยถึงไม่สุขเลยคิดเป็น 1 ใน 7 หรือร้อยละ 15.1 ซึ่งควรได้รับการใส่ใจเชิงนโยบายเพื่อไม่ให้เป็นกลุ่มที่เปราะบางทางอารมณ์ จึงเสนอให้ภาครัฐควรส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยยกระดับ “สุข ภาวะเชิงบวก” โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่มักมีภาวะเครียดสูง นอกจากนี้ ควรสื่อสารและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสะท้อนมุมมองต่อความสุขมากขึ้นผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

สามารถหาความสุขได้จากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว

เมื่อถามถึง การแสวงหาความสุข ในภาวะยากลำบากเรื่องเงิน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 ยังคงสามารถหาความสุขได้จากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว แสดงถึงคุณลักษณะ “Resilience” หรือ ความสามารถในการปรับตัวหรือสามารถยืดหยุ่นหาทางออกของภาวะจิตใจต่อวิกฤติต่าง ๆ อันเป็นลักษณะที่โดดเด่นของคนไทย ขณะที่อีกเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 28.6 ยอมรับว่ายังเผชิญความทุกข์ยากและรู้สึกหาความสุขได้ยาก จึงเสนอแนะให้มีการสนับสนุนกิจกรรมสร้างพลังใจในระดับปัจเจก เช่น “ศูนย์สุขใจใกล้บ้าน” หรือ “กิจกรรมบำบัดร่วมชุมชน” และรณรงค์เชิงบวกให้สังคมตระหนักว่าความสุขไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยสิ่งหรูหรา

ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขจากเรื่องใกล้ตัว พบว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมโดยเฉพาะ ครอบครัวและมิตรภาพ คือรากฐานของความสุขคนไทยที่ค้นพบร้อยละ 85.7 รองลงมาคือสุขภาพ ร้อยละ 80.2 และปัจจัยเศรษฐกิจ ร้อยละ 73.5 

ทั้งนี้ “สภาพแวดล้อมปลอดภัย” ร้อยละ 62.8 และ “มิติทางศาสนา” ร้อยละ 60.9 ที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำให้คนไทยมีความสุข ข้อเสนอแนะคือ พัฒนานโยบาย “ครอบครัวไทยเข้มแข็ง” ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และควรส่งเสริมวัด โรงเรียน และศูนย์ชุมชนให้เป็น “พื้นที่สร้างสุข” แก่คนในท้องถิ่นและผู้มาเยือน 

นอกจากนี้ ควร ใช้ Big Data และ AI เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชนอีกด้วย

รัฐบาลควรหามาตรการลดค่าครองชีพ-เสนอให้มีวันหยุดยาวเพิ่มขึ้น

ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ข้อเสนอแนะ นโยบายรัฐบาลและนโยบายท้องถิ่นที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.5 ระบุรัฐบาลควรหามาตรการลดค่าครองชีพ ร้อยละ 75.9 ระบุควรมีการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมครอบครัวและชุมชนสัมพันธ์ ร้อยละ 63.4 ระบุ ต้องการพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ร้อยละ 61.7 เสนอให้มีวันหยุดยาวเพิ่มขึ้น และร้อยละ 60.3 สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยววัด ชุมชน ธรรมชาติ ตลาดนัด ช้อปปิ้ง

กล่าวโดยสรุป ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสุขของคนไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความร่ำรวย แต่อยู่ที่ความรักในครอบครัว สุขภาพที่ดี และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย" แม้สังคมไทยจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย แต่คนไทยยังคงมีคุณค่าทางจิตใจที่เข้มแข็งและพร้อมจะร่วมกันฟื้นฟูความสุขในระดับปัจเจก ครอบครัว และสังคม โดยมีนโยบายรัฐและท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริม ประชาชนเสนอให้รัฐบาลเร่งลดค่าครองชีพ เป็นอันดับ หนึ่งรองลงมาคือการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลโพลชี้คนไทยหวั่นภัยแผ่นดินไหว หนุนรัฐพัฒนาระบบเตือนภัยแม่นยำ

ดุสิตโพลชี้สภาพเศรษฐกิจไทยมีผลกระทบ ประชาชนใช้จ่ายเดือนชนเดือน มีหนี้สินเพิ่มขึ้น


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง