รีเซต

โพลวันเด็กปี 67 ของ วธ. สะท้อนภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน กองทุนสื่อฯ รับลูกต่อยอด

โพลวันเด็กปี 67 ของ วธ. สะท้อนภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน กองทุนสื่อฯ รับลูกต่อยอด
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2567 ( 12:45 )
52
โพลวันเด็กปี 67 ของ วธ. สะท้อนภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน กองทุนสื่อฯ รับลูกต่อยอด
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชนในหัวข้อ ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 21,627 คน ปรากฏผลสำรวจที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนิดที่ต้องเรียกว่า รวดเร็ว ซับซ้อนและหลากหลาย
ผลต่างโพลวันเด็กปี 66-67 


  ย้อนไปเปรียบเทียบกับผลสำรวจที่กระทรวงวัฒนธรรมกับสวนดุสิตโพลทำเมื่อปี 2566 แค่ปีเดียวความแตกต่างสะท้อนความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง
ปี 2566 ผลสำรวจเรื่องกิจกรรมที่อยากให้จัดในงานวันเด็ก อันดับ 1 ร้อยละ 52.96 การเล่นเกมชิงรางวัล / อันดับ 2 ร้อยละ 39.63 วาดภาพ ระบายสี / อันดับ 3 ร้อยละ 38.42 การแข่งขันตอบปัญหา ส่วนสถานที่สนใจเข้าร่วมงานวันเด็ก อันดับ 1 ร้อยละ 49.79 โรงเรียน / อันดับ 2 ร้อยละ 38.07 หน่วยงานราชการ / อันดับ 3 ร้อยละ 36.71 สวนสนุก-สวนสัตว์ / อันดับ 4 ร้อยละ 27.03 พิพิธภัณฑ์ / อันดับ 5 ร้อยละ 15.85 สนามกีฬา


ปี 2567 เด็กและเยาวชนต้องการเข้าร่วมกิจกรรมในงานวันเด็กแห่งชาติ 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 ชมการแสดงคอนเสิร์ต / การแสดงดนตรี ร้อยละ 49.35 อันดับ 2 การเล่นเกมชิงรางวัล ร้อยละ 43.50 อันดับ 3 ชมภาพยนตร์ ร้อยละ 42.35 
ปี 2566 ปัญหาเร่งด่วนที่ควรหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน อันดับ 1 ร้อยละ 25.54 ปัญหายาเสพติด / อันดับ 2 ร้อยละ 24.32 ปัญหาเกี่ยวกับการเรียน-การศึกษา / อันดับ 3 ร้อยละ 22.44 ปัญหาการใช้ความรุนแรง
ปี 2567 ผลสำรวจได้สอบถามถึงความเห็นต่อปัญหาของเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 30.10 อันดับ 2 ปัญหาเกี่ยวกับการเรียน / การศึกษา ร้อยละ 18.91 อันดับ 3 ปัญหาการใช้ความรุนแรง เช่น การทำร้ายร่างกาย / จิตใจ, การล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 15.70 อันดับ 4 ปัญหาเด็กติดเกม ร้อยละ 11.27 อันดับ 5 ปัญหาการเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 9.48 


ปี 2566 วันเด็กอยากได้อะไรเป็นของขวัญวันเด็กมากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 31.00 เงิน-ทุนการศึกษา / อันดับ 2 ร้อยละ 25.21 ของเล่น-ตุ๊กตา และอันดับ 3 ร้อยละ 15.15 ขนม-ของกิน


ปี 2567 ความต้องการของขวัญในวันเด็กมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 เงิน ร้อยละ 29.38 อันดับ 2 โทรศัพท์มือถือ / iPad / โน้ตบุ๊ก ร้อยละ 24.82 อันดับ 3 ไปเที่ยวกับครอบครัว ร้อยละ 13.96 อันดับ 4 อุปกรณ์เครื่องเขียน ร้อยละ 6.80  อันดับ 5 อุปกรณ์กีฬา ร้อยละ 6.00 


ศิลปิน - ยูทูเบอร์ – อินฟลูเอ็นเซอร์ โดนใจเด็ก


ผลสำรวจ ปี 2567 ที่ไม่มีการถามในปี 2566 แต่สะท้อนอะไรหลายอย่างคือ คำถามว่า บุคคลที่เด็กและเยาวชนต้องการพบเจอมากที่สุดในงานวันเด็กแห่งชาติ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 73.57 ได้แก่ ศิลปิน / นักร้อง / นักดนตรี เช่น ลิซ่า, วง Three Man Down, วง BLACKPINK, เจนนี่ ได้หมดถ้าสดชื่น และวง BTS เป็นต้น อันดับ 2 ร้อยละ 59.11 ได้แก่ ยูทูเบอร์ / อินฟลูเอ็นเซอร์ เช่น SPD, เก๋ไก๋ สไลเดอร์, zbing z., My Mate Nate และคิวเท โอปป้า เป็นต้น อันดับ 3 ร้อยละ 34.49 ได้แก่ ดารา / นักแสดง เช่น ณเดชน์ คูกิมิยะ, อั้ม พัชราภา, ญาญ่า อุรัสยา, จี๋ สุทธิรักษ์ และ มาริโอ้ เมาเร่อ เป็นต้น อันดับ 4 ร้อยละ 30.24 ได้แก่ นักการเมือง เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เศรษฐา ทวีสิน, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น อันดับ 5 ร้อยละ 29.23 ได้แก่ นักกีฬา เช่น เจ ชนาธิป, คริสเตียโน โรนัลโด, เทนนิส พาณิภัค, บัวขาว บัญชาเมฆ และ ลิโอเนล เมสซี เป็นต้น 



  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของเด็กและเยาวชนเสนอต่อสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป



 ขณะที่ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสื่อฯ มีหลายประเด็นน่าสนใจ เรื่องแรก คือ พฤติกรรมเปิดรับสื่อ การใช้สื่อ การเข้าถึงสื่อ รวมถึงค่านิยมทัศนคติ ปีนี้จะเห็นชัดเจนว่า เด็กเป็นแฟนคลับตัวยงศิลปินดังๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในคอนเสิร์ตใหญ่ๆจะเห็นเด็กไปถือป้ายเป็นแฟนคลับชัดเจนเหนียวแน่นและมี Royalty  สูง อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่อาจจะไปเคยเห็นในยุคก่อน การให้ความสนใจนักร้องศิลปิน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ที่นาสังเกตคือ บทบาทของยูทูเบอร์หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ มีมากกว่าดารานักแสดง เพราะดารานักแสดง จะนำเสนอบทบาทผ่านละคร ภาพยนตร์ ซึ่งช่องทางนี้ยังเป็นสื่อเก่าอยู่ เช่น โทรทัศน์ การดูย้อนหลังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์คิดว่ายังไม่เท่าไหร่ ความต่อเนื่องในการดูก็อาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ การดูดาราดังแสดงละครในโทรทัศน์กับการดูยูทูเบอร์ที่เขาชอบ การที่เขาให้คะแนนคนกลุ่มนี้มากกว่า สะท้อนถึงอิทธิพลของสื่อออนไลน์ เรียกว่า ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก อันนี้จะเป็นข้อมูลสำหรับหลายฝ่าย ซึ่งในมุมของภาครัฐเองก็ต้องคิดในมุมของการส่งเสริมที่จะให้ความสำคัญกับช่องทางสื่อออนไลน์ ในมุมของภาครัฐที่จะต้องกำกับดูแลก็อาจจะต้องมาดูว่า การกำกับดูแลในสื่อออนไลน์ที่ทำได้ค่อนข้างน้อยต่างจากการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ที่เข้มงวดมาก อันนี้ปัญหาอยู่ตรงไหนและจะแก้อย่างไร ในแง่คนทำตลาดต้องยอมรับว่า การมาใช้ช่องทางออนไลน์จะได้ผลกว่าสื่อหลักแบบเดิมแล้วค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่า นี่คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์สื่อที่เด็กสะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมา


 ดร.ธนกร กล่าวว่า ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกเช่น วันเด็กอยากทำอะไร อันดับ 3 เด็กอยากดูภาพยนตร์ อันนี้ยืนยันว่า สิ่งที่กองทุนฯดำเนินการมาถูกต้อง สอดคล้องกับกิจกรรมที่กองทุนฯ ดำเนินการ โดยวันเด็กปีนี้ กองทุนฯจัดให้มีการฉายภาพยนตร์ A Time To Fly  ให้กับโรงเรียนที่ขอมาหลายโรงเรียน  สิ่งที่กองทุนฯ ทำ ฐานข้อมูลรองรับ แม้เด็กอาจจะเข้าถึงสื่อออนไลน์เป็นหลัก แต่สื่อภาพยนตร์ก็ยังให้ความสำคัญ ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมให้มากขึ้นต่อไป ทำอย่างไรให้มีหนังเด็กมากขึ้น จะเป็นการ์ตูน แอนนิเมชั่น ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความนิยมชมชอบของเด็ก สอดแทรกเนื้อหาสร้างสรรค์ลงไป 


 “ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ คำถามว่า เด็กกังวลเรื่องอะไรในสภาพปัญหาปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 คือ ยาเสพติด ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่อง จริงจัง กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และที่ทึ่งมากคือ เด็กห่วงใยปัญหา เด็กติดเกม แสดงว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ผู้ใหญ่อย่างเดียวที่มองว่าเป็นปัญหา เด็กก็มองว่าเป็นปัญหาด้วย ดังนั้นทางกองทุนฯ ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมอยู่แล้วจะเอาข้อมูลนี้มาสังเคราะห์เพื่อต่อยอดในทางใดทางหนึ่งที่สอดคล้องกับภารกิจของกองทุนฯ” ดร.ธนกร ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง