ศิริกัญญา แนะ ชะลอโครงการคลองช่องนนทรี 980 ล้าน จนกว่าจะมีผู้ว่าฯกทม.จากเลือกตั้ง
ข่าววันนี้ 18 ธันวาคม ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เขียนข้อความเรียกร้องให้ชะลอโครงการช่องนนทรี จนกว่าจะมีผู้ว่าฯกทม.จากการเลือกตั้ง โดยระบุว่า คลองช่องนนทรี 980 ล้านบาท: ปัญหาการทำโครงการอย่างรีบเร่ง และแดนสนธยาการใช้งบกลาง กทม.
โครงการคลองช่องนนทรี งบประมาณ 980 ล้านบาท ถูกเร่งรัดขึ้นมาเมื่อปลายปี 2563 และหมายมั่นว่าจะเปลี่ยนคลองช่องนนทรีในปัจจุบัน ความยาว 4.5 กิโลเมตรให้กลายเป็นสวนสาธารณะ โดยตามแผนที่ กทม. มีการแถลงจะก่อสร้างเฟสแรกความยาว 200 เมตร ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 หรือในอีกประมาณ 10 วันข้างหน้า
ฟังดูก็เหมือนเป็นเรื่องดี คนกรุงจะได้พื้นที่สีเขียวใหม่ใจกลางย่านธุรกิจ มีลานกิจกรรมสำหรับใช้ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโครงการแล้วเสร็จ จะสวยหรูอย่างที่ผู้ว่าฯ ขายฝันเอาไว้หรือไม่ดูจะเป็นคำถาม
เพราะคลองช่องนนทรีนั้น ปัจจุบันเป็นคลองน้ำเน่า เน่าจนได้กลิ่นเหม็นคละคลุ้งแบบไม่ต้องเสียเวลาใช้เครื่องมือมาตรวจวัด หากใครเคยเดินทางผ่านบริเวณคลองช่องนนทรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านั่งอยู่บนรถเมล์ร้อนในวันที่รถติด ก็จะได้กลิ่นน้ำเสียจากคลองแบบที่เรียกว่าหน้ากากอนามัยยังเอาไม่อยู่
และถ้าเราลองนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ไปวัด ก็จะพบว่าน้ำในคลองช่องนนทรีนั้นเน่าเสียยิ่งกว่าน้ำในคลองแสนแสบ คือน้ำในคลองช่องนนทรีมีค่า Biochemical Oxygen Demand (BOD) เฉลี่ยอยู่ที่ 23.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ในขณะที่น้ำในคลองแสนแสบมีค่า BOD เฉลี่ยที่ 9.9 มิลลิกรัมต่อลิตร (สำนักการระบายน้ำ กทม., 2563) หรือถ้าจะไปเทียบกับคลองชองเกชอนที่เกาหลีใต้ ก็จะพบว่าคลองต้นแบบดังกล่าวมีค่า BOD เพียง 2-3 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น
หรือถ้าจะวัดค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen – DO) ที่ตามมาตรฐานแล้วต้องมีไม่น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ค่า DO ในคลองช่องนนทรีนั้นมีสูงสุดแค่เพียง 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ยังน้อยกว่าคลองแสนแสบที่มีค่า DO เฉลี่ย 3.1 มิลลิกรัมต่อลิตร
คำถามคือ กทม. เร่งรัดทำโครงการสร้างสวนสาธารณะริมคลองมูลค่ากว่า 980 ล้านบาท ในพื้นที่ที่คุณภาพน้ำแย่จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน โดยไม่มีการวางแผนทำระบบบำบัดน้ำเสียก่อนได้อย่างไร
และจากที่ดิฉันได้ติดตามการชี้แจงของ กทม. ผ่านอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองครั้ง รวมทั้งการแถลงข่าวของ กทม. เมื่อวานนี้ (16 ธันวาคม 2564) ก็ไม่พบว่าจะมีวิธีการใดที่จะบำบัดน้ำเสียในคลองช่องนนทรีให้ดีขึ้นได้เลย
มีแต่เพียงการกล่าวแบบลอย ๆ เช่น จะปลูกพืชที่มีคุณสมบัติดูดซับสารพิษเพื่อบำบัดน้ำ แต่กลับไม่สามารถบอกได้ว่าจะปลูกพืชเหล่านั้นเป็นจำนวนกี่ต้น จึงจะสามารถบำบัดน้ำในคลองช่องนนทรีให้มีคุณภาพดีเพียงพอที่มนุษย์จะสามารถสัมผัสได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ระบบเบื้องหลังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบำบัดน้ำหรือการระบายน้ำนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะถ้าขาดการวางระบบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว โครงการนี้ก็จะไม่ใช่งานภูมิสถาปัตยกรรมอย่างที่ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบกล่าวอ้าง แต่จะกลายเป็นเพียงโครงการจัดสวนแบบลูบหน้าปะจมูกผักชีโรยหน้า ที่ใช้งบประมาณโครงการจากภาษีของพวกเราเกือบ 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
การเร่งทำโครงการแบบลูบหน้าปะจมูกเป็นเพียงปลายเหตุ ตลอดทั้งโครงการเราเห็นความรีบเร่งจัดทำโครงการให้ทันการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และยังมีความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างที่สื่อหลายสำนักได้ตีแผ่ออกมาแล้ว
แม้กระทั่งผู้แทนของ กทม. เอง ยังยอมรับต่ออนุกรรมาธิการฯ ว่า โครงการนี้ไม่ได้มีการศึกษาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณในการดูแลสวนและคลองต่อปี การจัดทำทางคนเดินข้าม ปัญหาการซ้อนทับกันกับทางเดินรถ BRT ปัญหาการซ้อนทับกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต แม้กระทั่งแบบแปลนหรือรายละเอียดของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้ง 4.5 กิโลเมตรก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ได้อนุมัติการก่อสร้างโครงการไปแล้ว และกำลังจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้งานในเฟสแรกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
พูดง่าย ๆ ว่า กทม. กำลัง “ทำไปคิดไป” ให้ประชาชนเป็นหนูทดลอง ถ้ามีอะไรผิดพลาด ก็ค่อยไปคิดหาทางแก้กันที่หน้างาน เรายอมจะปล่อยให้ภาษีของพวกเราถูกใช้จ่ายไปในรูปแบบนี้จริง ๆ หรือ?
ที่สำคัญคือในการก่อสร้างเฟสแรก ผู้ว่าฯ เร่งรีบจนถึงขั้นขออนุมัติงบกลางจำนวน 80 ล้านบาท ออกมาใช้ก่อน โดยอ้างว่าโครงการนี้ “หากไม่ดำเนินการจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือกรุงเทพมหานคร” ซึ่งนี่อาจเป็นการเบิกจ่ายที่ผิดระเบียบ หรือการตีความใช้งบกลางอย่างเกินเลยของผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ เพราะถ้าเราจำกันได้ โครงการไฟประดับ 39 ล้านบาท ที่ทำให้ผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนหน้าพ้นจากตำแหน่ง ก็เป็นการใช้งบกลางที่ผิดระเบียบเช่นเดียวกัน
เราคงจะหยุดการก่อสร้างโครงการในเฟสแรกนี้ไม่ทันแล้ว สิ่งที่ทำได้นั้นคือการช่วยกันออกมาจับตาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโครงการในส่วนที่เหลืออีก 900 ล้านบาท และไม่ควรดำเนินโครงการใดๆ ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้ผู้บริหารใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่าเดินหน้าโครงการนี้ต่อหรือไม่ หรือจะทำต่อโดยมีการวางแผนอย่างรอบคอบ