รีเซต

นาโตชี้ ปูตินใช้ฤดูหนาวเป็นอาวุธสร้างความได้เปรียบในวิกฤตยูเครน

นาโตชี้ ปูตินใช้ฤดูหนาวเป็นอาวุธสร้างความได้เปรียบในวิกฤตยูเครน
TNN ช่อง16
29 พฤศจิกายน 2565 ( 13:06 )
60
นาโตชี้ ปูตินใช้ฤดูหนาวเป็นอาวุธสร้างความได้เปรียบในวิกฤตยูเครน

---‘ฤดูหนาว’ อาวุธรัสเซีย---


เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ยืนยันว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ตั้งใจใช้ความหนาวเหน็บ หิมะ และน้ำแข็ง เป็นข้อได้เปรียบ ไม่แต่เพียงในสนามรบ แต่กับพลเมืองยูเครนด้วย


สโตลเทนเบิร์ก กล่าวก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศนาโตที่บูคาเรสต์ โรมาเนีย จะเริ่มต้นขึ้นว่า ประธานาธิบดีปูตินกำลังพยายามใช้ฤดูหนาว เป็นอาวุธในสงครามยูเครน และนาโตจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับการโจมตีอีก นี่คือเหตุผลว่าทำไมพันธมิตรนาโต ต้องยกระดับการสนับสนุนยูเครน


ด้านเออร์มาส เรนซาลู รัฐมนตรีต่างประเทศเอสโตเนีย พร้อมรัฐมนตรีต่างประเทศต่าง 6 ชาติบอลติกและนอร์ดิก เดินทางเยือนกรุงเคียฟพร้อมกันเป็นคณะใหญ่สุด นับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน และประกาศให้คำมั่นว่าจะส่งเครื่องผลิตไฟฟ้า เสื้อกันหนาว และอาหาร มาให้แก่ยูเครน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวยูเครนรับมือกับช่วงเดือนที่หนาวที่สุด


อย่างไรก็ตาม เรนซาลู กล่าวว่า รัสเซียใช้ความมั่นคงทางพลังงานของพลเรือนเป็นอาวุธ


ขณะที่โจเซ็ป บอร์เรล หัวหน้าเจ้าหน้าที่นโยบายฝ่ายต่างประเทศของอียู กล่าวว่า ประธานาธิบดีปูติน พยายามทำให้ยูเครนหลายเป็นหลุมดำ ไม่มีแสงไฟ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีระบบทำความร้อน เพื่อทำให้ชาวยูเครนอยู่ในความมืดมนและหนาวเหน็บ ดังนั้นเราจึงต้องเดินหน้าสนับสนุนสิ่งของต่าง ๆ ในยูเครนมากขึ้น เพื่อรับมือกับหน้าหนาวที่ไม่มีไฟฟ้าให้ได้


---ยุทธศาสตร์การรบรัสเซียช่วงฤดูหนาว---


นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา รัสเซียพุ่งเป้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานรอบ ๆ กรุงเคียฟ และเมืองอื่น ๆ ของยูเครน และมักเกิดขึ้นทุกวันจันทร์ ที่ผู้คนกำลังเริ่มต้นทำงาน ทำให้เกิดไฟฟ้าดับและน้ำประปาไม่สามารถจ่ายได้ 


ขณะที่อุณหภูมิในยูเครนกำลังลดต่ำลงหนาวจัด และคาดว่าจะต่ำถึง -11 องศาเซลเซียสในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ทำให้นานาชาติเปลี่ยนไปเน้นที่การจัดหาเครื่องปั่นไฟและหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่ยูเครน เพื่อลดผลกระทบจากไฟฟ้าที่อาจมีจำกัด


ถือเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะปกติแล้วยูเครนเป็นผู้ส่งออกพลังงาน แต่ตอนนี้กำลังทดสอบ การนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรมาเนียแล้วเช่นกัน


ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เตือนว่า กองทัพรัสเซียกำลังเตรียมการโจมตีครั้งใหม่ และสัปดาห์ที่จะกำลังจะมาถึงนี้ อาจจะยากลำบากพอ ๆ กับสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป


รัฐบาลยูเครนยังกล่าวหาว่า รัสเซียพุ่งเป้าโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน เพื่อทำร้ายพลเรือน แต่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และยืนยันว่า ไม่ได้ทำร้ายประชาชน แต่ความทุกข์จะไม่จบสิ้น หากยูเครนยังไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของรัสเซีย


ด้านนายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ เผยว่า อาจจะต้องมีการอพยพผู้คนบางส่วน จากประชากรราวสามล้านคนในกรุงเคียฟ เพื่อไปอยู่ในพื้นที่ที่บริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นมีความเสี่ยงต่ำ ต่อการถูกปิดตัวเพราะถูกยิงโดยขีปนาวุธ


---รัสเซียยืนยันไม่ถอนกำลังออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซห์เซีย---


ขณะเดียวกัน รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธข่าวที่ว่า รัสเซียมีแผนจะถอนกำลังออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซห์เซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่สุดในยุโรป และอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซียนับตั้งแต่ช่วงต้นของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน


การแถลงของรัสเซียมีขึ้น หลัง เปโตร คอตคิน หัวหน้าผู้ดูแลโรงไฟฟ้าดังกล่าว เผยว่า มีสัญญาณว่ารัสเซียอาจถอนกำลังออกไป แต่ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินตอบโต้กลับเมื่อวันจันทร์ว่า ไม่จำเป็นต้องมองหาสัญญาณใด ๆ เพราะมันมี และไม่สามารถมี


ทางการรัสเซียยังเผยว่า รัสเซียได้ผนวกพื้นที่ดังกล่าวเข้ากับรัสเซียแล้ว และจัดให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซห์เซีย อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติไปแล้ว


ทั้งนี้ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ได้เรียกร้องทั้งรัสเซียและยูเครน ให้ปล่อยให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวและบริเวณโดยรอบ เป็นเขตปลอดทหาร เพื่อป้องกันการเกิดหายนะภัยนิวเคลียร์


ในด้านความพยายามทางการทูต ยังมีความพยายามในการลดทอนกำลังในการจัดหาเงินทุนของรัสเซียเพื่อใช้ในปฏิบัติการทหารในยูเครน แต่ยังไม่สำเร็จ 


โดยแหล่งข่าวทางการทูตเผยกับ Al Jazeera ว่า ชาติอียูล้มเหลวในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซีย เพราะโปแลนด์ ยืนยันต้องการกำหนดเพดานราคาไว้ต่ำกว่าที่ชาติอื่น ๆ ต้องการ จึงทำให้ไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้น แม้จะมีข้อความทางกฎหมายที่เห็นพ้องกันแล้ว แต่โปแลนด์ยังไม่เห็นด้วยกันราคาที่ตั้งไว้

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

Al Jazeera, Reuters


ข่าวที่เกี่ยวข้อง