รีเซต

"แผ่นดินไหว" เมียนมา ทำไมกทม.เสียหายหนัก ทั้งๆที่อยู่ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร

"แผ่นดินไหว" เมียนมา ทำไมกทม.เสียหายหนัก ทั้งๆที่อยู่ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร
TNN ช่อง16
31 มีนาคม 2568 ( 12:35 )
9

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมา แม้ว่าจะมีแรงสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้เพียงช่วงสั้นๆ แต่กลับมีรายงานความเสียหายต่ออาคารในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร รวมถึงอาคารที่กำลังก่อสร้างที่ถล่มลง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในเชิงธรณีวิทยาและวิศวกรรมธรณี เนื่องจากกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ห่างจากรอยเลื่อนสะกาย (Sagging Fault) กว่า 1,000 กิโลเมตร แต่กลับได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนในระดับที่ค่อนข้างสูง

ดร.รัตนา ธีรฐิติธรรม นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า สาเหตุของการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ นั้น เชื่อมโยงกับโครงสร้างธรณีของพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่บน “แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง” ซึ่งเป็นแอ่งสะสมตะกอนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกตั้งแต่ยุค Tertiary โดยมีชั้นดินเหนียวอ่อน (Bangkok Clay) ซึ่งหนาประมาณ 15–30 เมตร เป็นชั้นดินด้านบนสุด และด้านล่างชั้นดินเหนียวจะเป็นชั้นทรายสลับดินเหนียวหลายชั้นที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล (aquifers)

ด้วยลักษณะของแอ่งที่มีตะกอนหนาเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร และในบางพื้นที่อาจลึกถึง 1,200–1,500 เมตร ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางแอ่ง ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้มากกว่าพื้นที่รอบนอก เช่น จังหวัดสระบุรีและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากชั้นตะกอนในพื้นที่เหล่านี้ตื้นกว่า

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของระบบน้ำใต้ดินในการขยายแรงสั่นสะเทือน (Seismic Wave Amplification) จากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำบาดาลอย่างต่อเนื่อง เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้ชั้นดินและความมั่นคงของฐานรากอาคารได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่าปกติ การใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลมากเกินไปสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของดินและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาจากแรงสั่นสะเทือนในอนาคต

จากเหตุการณ์นี้ นักธรณีวิทยาชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่รอยเลื่อนแผ่นดินไหวเท่านั้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้ทรัพยากรน้ำใต้ดินที่มีผลต่อเสถียรภาพของชั้นดินและฐานรากของอาคาร จึงเป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่องอย่างกรุงเทพฯ ที่มีความเสี่ยงสูง

การศึกษาธรณีวิทยาและการพัฒนาเมืองอย่างรอบคอบ จะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวและการเปลี่ยนแปลงของชั้นดิน ทำให้สามารถเตรียมความพร้อมและป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง