รีเซต

อนุทิน ยัน วัคซีนไฟเซอร์ ฉีดในเด็กปลอดภัย หลังผู้ปกครองกังวล

อนุทิน ยัน วัคซีนไฟเซอร์ ฉีดในเด็กปลอดภัย หลังผู้ปกครองกังวล
ข่าวสด
22 กันยายน 2564 ( 12:09 )
41
อนุทิน ยัน วัคซีนไฟเซอร์ ฉีดในเด็กปลอดภัย หลังผู้ปกครองกังวล

อนุทิน ยัน วัคซีนไฟเซอร์ ปลอดภัย หลังผู้ปกครองกังวลผลข้างเคียง ระบุ นำเข้ามาฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะ มีราว 5 ล้านคน หวังช่วยกลับไปโรงเรียนได้

 

 

วันที่ 22 ก.ย.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 12-17 ปี ว่า ปัจจุบันวัคซีนที่ สธ.จัดหาและสามารถฉีดให้เด็กได้นั้น ยังเริ่มอยู่ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป คือ วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งกำหนดจะมาถึงวันที่ 29 ก.ย.นี้เป็นล็อตแรก และจะส่งให้ครบ 30 ล้านโดสใน ธ.ค.64

 

 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า โดยวัคซีนไฟเซอร์ขึ้นทะเบียนฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปอยู่แล้ว กรมควบคุมโรคจึงมีแผนฉีดให้กับเด็ก ๆ ทันที ส่วนที่ผู้ปกครองเสนอว่าให้มีการจัดทำคู่มือการฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น เนื่องจากมีแต่ให้แจ้งความประสงค์ว่าจะฉีดหรือไม่ แต่ไม่มีระบุเรื่องผลข้างเคียง กรมควบคุมโรครับทราบก็จะรับไปพิจารณา

 

 

อนุทิน ยัน วัคซีนไฟเซอร์ ปลอดภัย หลังผู้ปกครองกังวลผลข้างเคียง

 

 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า วัคซีนที่จัดซื้อมาทุกขนาน ทุกยี่ห้อ มีความปลอดภัย ไม่ได้เอามาใช้โดยไร้การรับรองทางวิชาการ คงไม่ต้องวิตกกังวลอะไรมาก แต่ลูก ๆ หลาน ๆ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้ให้ความยินยอม แต่ยืนยันว่า วัคซีนขึ้นทะเบียนผ่านการทดลองศึกษาวิจัยมาแล้ว วัตถุประสงค์หลักที่รัฐบาลไทยอนุมัติจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ไม่ใช่เพราะเป็น mRNA รัฐบาลไทยมีหน้าที่จัดหาวัคซีนโควิดตระกูลไหนก็ได้ ในการจัดหาไฟเซอร์มาก็เพื่อฉีดให้แก่เยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไป มีประมาณ 5 ล้านคน ที่อยู่ในวัยเรียน ต้องมีสังคม ต้องไปโรงเรียน เพราะฉะนั้นต้องทำความมั่นใจว่ากลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนที่ให้ความปลอดภัย

 

 

"ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 12 ปี ก็ต้องรอผู้ผลิตวัคซีนมาขึ้นทะเบียน เราขึ้นทะเบียนเองไม่ได้ เราไม่สามารถบอกว่าเสี่ยงฉีดไปก่อน ทำไม่ได้เป็นอันขาด ขอความเข้าใจตรงนี้ด้วย แต่การฉีดลงมาได้ถึง 12 ปี จำนวนคนรับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังเด็กเล็กก็ลดน้อยลง เมื่อไรก็ตามมีการขึ้นทะเบียน ผลการศึกษาชัดเจน สามารถใช้ช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปีไปได้ ยืนยันว่า สธ.จะเร่งจัดหามาให้เด็กๆ เหล่านั้นทันที" นายอนุทิน กล่าว

 

 

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวทางการรับวัคซีนในเด็กเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับวัคซีนชนิดใดก็ตาม ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล หลังจากมีความเป็นห่วงเรื่องการรับวัคซีนไฟเซอร์ อาจทำให้มีผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พร้อมกันนี้ระบุว่า ขณะนี้ทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังพิจารณาเรื่องของวัคซีนเชื้อตายที่จะมาฉีดให้กับเด็กซึ่งมีความปลอดภัยสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง