ประวัติศาสตร์! สภาอาร์เจนตินา ผ่านกฎหมายทำแท้งถูกกฎหมาย แม้ศาสนจักรต้าน
วุฒิสภาอาร์เจนตินา ลงมติ ผ่านกฎหมายทำแท้งถูกกฎหมาย ถือเป็นประเทศคริสต์นิกายโรมันคอทอลิคใหญ่ประเทศแรก ในละตินอเมริกา ที่ผ่านกฎหมายดังกล่าว
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า วุฒิสภาของอาร์เจนตินาลงมติผ่านร่างการทำแท้งถูกกฎหมาย ซึ่งอาร์เจนตินาเป็นประเทศใหญ่ประเทศแรกในละตินอเมริกาที่นักรณรงค์ด้านสิทธิสตรีประสบความสำเร็จในการผ่านกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากการคัดค้านภายใน ของคริสตจักรคาทอลิก
การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากในภูมิภาคที่ศาสนจักรมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการเมืองมาหลายศตวรรษ ก่อนหน้านี้มีการอนุญาตในบางกรณี ใน ประเทศคิวบา อุรุกวัย และ บางส่วนของเม็กซิโก
หลังจากการอภิปรายที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน วุฒิสภาได้ทำการลงคะแนนเสียง 38 ต่อ 29 และงดออกเสียง 1 ให้ผ่านกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 14 ซึ่งสภาล่างได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้ในสองสัปดาห์ที่แล้ว โดยจากเดิมมีการกำหนดให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นในกรณีที่ตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน หรือผู้ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตเท่านั้น
เมื่อผลการลงคะแนนได้ปรากฏสู่สาธารณะ ผู้คนหลายพันคนที่อยู่บริเวณภายนอกของอาคารวุฒิสภา ซึ่งเป็นพลเมืองที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวได้ส่งเสียงเชียร์ พร้อมโบกธงสีเขียวและพลุควันสีเขียวที่แสดงถึงการรณรงค์ของพวกเขา
“นี่เป็นการต่อสู้กันมาหลายปี ผู้หญิงจำนวนมากเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ผิดกฎหมาย ต่อจากนี้จะไม่มีผู้หญิงคนไหนต้องเสียชีวิตจากการทำแท้งอีกต่อไป” วิลมา อิบาร์รา ผู้ร่างกฎหมายและเลขานุการด้านกฎหมาย กล่าวพร้อมหลั่งน้ำตา
ประธานาธิบดี อัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ ได้กล่าวว่า “ การทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย วันนี้เราเป็นสังคมที่ดี เราได้ขยายสิทธิสตรีและสร้างกฎหมายที่ประกันสุขภาพของประชาชน”
หลังจากการลงคะแนนเสียง ฝ่ายต่อต้านการทำแท้ง (ซึ่งใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์) หลายพันคนแยกย้ายกันไปเช็ดน้ำตา ในขณะที่วิทยากรจากเวทีต่อต้านการทำแท้ง กล่าวว่า “เรากำลังเห็นความพ่ายแพ้ของชีวิต แต่ความเชื่อมั่นของเราไม่เปลี่ยนแปลง เราจะทำให้เสียงของเราได้ยิน”
ขณะที่ ฮวน ปาเปียร์ นักวิจัยอาวุโสของอเมริกาจากฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) กล่าวว่า “การผ่านกฎหมายทำแท้งถูกกฎหมายในประเทศคาทอลิกที่ใหญ่พอ ๆ กับอาร์เจนตินาจะทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อรับรองสิทธิของสตรีในละตินอเมริกา แม้ว่าจะมีการต่อต้านอย่างแน่นอน แต่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่ออาร์เจนตินารับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี พ.ศ.2553 ซึ่งกฎหมายใหม่ดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบเป็นโดมิโนในภูมิภาคนี้”