รีเซต

กรมชลฯ เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำหลัง “โนอึล” เข้าไทย

กรมชลฯ เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำหลัง “โนอึล” เข้าไทย
มติชน
20 กันยายน 2563 ( 18:09 )
89
กรมชลฯ เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำหลัง “โนอึล” เข้าไทย

     นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำปัจจุบัน  ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 37,208 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 49% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 13,383 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 11,575 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,300ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 41% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้รวมกัน 3,614 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำประมาณ 44.56 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก 9 แห่ง ประกอบด้วย แม่น้ำชี มูล โขง น่าน ยม วัง ปิง เจ้าพระยา และป่าสัก มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกะทบจากพายุโนอึล พบว่ามีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ ซึ่งระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นบริเวณแม่น้ำป่าสัก อ.วิเชียรบุรี อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ลำสนธิ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี  และลำน้ำยัง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ส่วนสถานการณ์อุทกภัย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 1 จังหวัด คือ จ.อุบลราชธาณี ตั้งแต่วันที่ 17-18 กันยายน วัดปริมาณน้ำฝนได้ 58.4 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังหลายจุดในเขตเทศบาล อ.เดชอุดม และอ.วารินชำราบ โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือเข้าช่วยเหลือ พร้อมเดินเครื่องสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว และหากหลังจากนี้ไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคนผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ วิเคราะห์ ติดตาม สถานการณ์น้ำ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนยังเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำปี 2563/64 ของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านจัดสรรน้ำให้เป็นระบบ เพื่อลดการสูญเสียน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอย่างสูงสุด และให้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน รวมถึงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบในช่วงฤดูแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง