เจ้าของฟาร์ม กลับลำ ขาย60ตามสัญญา อ้างเครียดโวยหมูแพงถูกสอบแล้ว
เจ้าของฟาร์มหมู เครียด หลังหน่วยงานจี้ตรวจสอบ เผย ที่พูดเพราะความจริงคือ หมูในฟาร์มมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในราคา 60 บาทจริง
จากกรณี นางปริญทิพย์ ศึกษา อายุ 50 ปี เจ้าของฟาร์มหมู ต.ห้วยยาง อ.แกลง จ.ระยอง ออกมาเปิดเผยว่า หมูที่เลี้ยงไว้ 1,400 ตัว น้ำหนักได้ตามเกณฑ์กำหนดขายแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมมาซื้อ อ้างกลไกตลาด จึงต้องแบกภาระค่าอาหารต่อไป ทั้งที่ทำสัญญาขายกันไว้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ถูกกว่าที่เป็นข่าวกว่าครึ่ง เช่นเดียวกับฟาร์มหมูที่ จ.ตราด ที่ต้องแบกภาระเลี้ยงเกินกำหนดเวลาไปกว่า 20 วัน เสียค่าอาหารจนแทบจะไม่เหลือกำไร จึงแปลกใจว่า หมูขาดตลาด และ หมูแพง ตรงไหน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น อ่านข่าว :
ล่าสุดเมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 19 ม.ค.2565 นางปริญทิพย์ ศึกษา อายุ 50 ปี เจ้าของบรรทมฟาร์มหมู กล่าวว่า หลังจากที่เป็นข่าวดัง รู้สึกเครียดมาก ทั้งผู้ติดต่อจะมาซื้อหมู และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ติดต่อเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงทำให้รู้สึกว่า ความจริงเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ฟาร์มหมูของตน เป็นฟาร์มที่ทำสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีการทำสัญญาประกันราคาไว้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม กำหนดเวลาเลี้ยงไว้ที่ 150 วัน หรือน้ำหนักตัวหมู 120-130 กิโลกรัมต่อตัว
นางปริญทิพย์ กล่าวต่อว่า โดยเริ่มตั้งแต่ซื้อลูกหมูมาเลี้ยง จนกระทั่งโตตามกำหนดคือ 5 เดือน หรือน้ำหนัก 120-130 บาท ซึ่งปัจจุบันในฟาร์มมีหมูจำนวน 1,400 ตัว มีน้ำหนักได้ตามกำหนดแล้ว ติดต่อไปก็ยังไม่มีการมาจับ จึงเกรงว่าจะเหมือนกับฟาร์มที่ จ.ตราด ต้องยืดเวลาเลี้ยงไปถึง 170 วัน ต้องแบกภาระค่าอาหารเพิ่มไปอีก 20 วัน
"ส่วนเรื่องราคาขอยืนยันว่าขายได้ 60 บาทต่อ 1 กิโลกรัมจริงตามราคาประกันจากบริษัท และจำนวนหมูหลายฟาร์มก็ยังคงมีอยู่ไม่ขาด จึงแปลกใจว่าซื้อราคา 60 บาท แต่ทำไมราคาหน้าเขียงถึงพุ่งสูง ที่ออกมาพูดไม่มีเจตนาที่จะทำให้ใครเดือดร้อน พูดไปเพียงเพราะกังวลหวั่นว่าหมูที่เลี้ยงจะขายไม่ได้เพราะราคาแพงไม่มีใครซื้อกิน" นางปริญทิพย์ กล่าว
ด้าน นายบรรทม ศึกษา อายุ 55 ปี เจ้าของฟาร์ม กล่าวว่า ได้เลี้ยงหมูกับบริษัทแห่งนี้มาเป็นเวลากว่า 10 แล้ว โดยเป็นการเลี้ยงแบบทำสัญญาประกันราคา โดยหมูที่เลี้ยงอยู่ 1,400 ตัว ประกันราคาไว้ที่ 60 บาท โดยในสัญญามีกำหนดจับในวันที่ 1 ก.พ.2565 แต่เนื่องจากหมูมีน้ำหนักตามกำหนดแล้ว จึงเป็นกังวลเพราะยังไม่มีการกำหนดวันจับจากบริษัท
นายบรรทม กล่าวต่อว่า เกรงว่าจะเป็นเหมือนฟาร์มอื่นที่ต้องเลี้ยงเกินไปถึง 20 วัน ก็เท่ากับต้องแบกภาระเรื่องอาหาร กลัวจะขาดทุนจึงออกมาพูด จึงต้องการให้มีการควบคุมเรื่องราคา เพราะราคาหมูหน้าฟาร์มแค่ 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่หน้าเขียงกลับราคาพุ่งสูงเกินจริง