รีเซต

‘บิทคับ’ แนะรัฐตามให้ทันเทคโนโลยี สร้างศก.ใหม่รองรับเวฟ 3.0 ย้ำกฎหมายต้องเอื้อ-ทันโลก

‘บิทคับ’ แนะรัฐตามให้ทันเทคโนโลยี สร้างศก.ใหม่รองรับเวฟ 3.0 ย้ำกฎหมายต้องเอื้อ-ทันโลก
มติชน
31 มกราคม 2565 ( 13:06 )
69

เมื่อเวลา 10.30 น วันที่ 31 มกราคม 2565 นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด เสวนาในงานสัมมนา “สู่ศักยภาพใหม่: Thailand 2022” รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “ศักยภาพใหม่ประเทศไทย” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า การระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นธุรกิจเดิมๆ แต่บริษัทที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ (นิวอีโคโนมี) จะเป็นบริษัทที่สามารถเติบโตได้อย่างมหาศาล โดยบริษัทที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจได้ประโยชน์จากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่บริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทรานส์ฟอร์มธุรกิจได้ทัน จะถูกกระทบ เนื่องจากดิจิทัล อีโคโนมีจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็เป็นเทรนด์ที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่การระบาดโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้นและเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกเท่านั้น ทิศทางของประเทศไทยคือ จะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นนิวอีโคโนมีบิสซิเนส หรือรูปแบบธุรกิจอิงเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมองว่าภาคธุรกิจไม่ควรมีโมเดลธุรกิจแบบเก่าๆ ควรนำกำไรมาใช้ลงทุนในด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ทรานส์ฟอร์มไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ อาทิ เฟซบุ๊ก ที่เปลี่ยนชื่อบริษัท และใช้เงินลงทุนกับรูปแบบธุรกิจ ที่เป็นโลกเสมือนจริง (เมตาเวิร์ส) สูงมาก ซึ่งให้ได้ชัดเจนว่า โลกเรากำลังขับเคลื่อนเข้าสู่คลื่นยักษ์ (เวฟ) 3.0 ต่อเนื่องจาก 1.0 และ 2.0 ที่ผ่านมา ทั้งการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บิ๊กเดต้า บล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเวฟ 3.0 ซึ่งกำลังจะเกิดในอีก 10 ปีต่อจากนี้

 

“ประเทศไทยควรที่จะมองโอกาสใหม่ ไม่ควรพัฒนาบนสิ่งเก่า หรือแก้ไขปัญหาเดิม ควรหาอุตสาหกรรมอนาคต (นิวเอสเคิร์ฟ) ใหม่มากกว่า โดยการจะเกิดสิ่งใหม่ได้ จำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (อีโคซิสเต็ม) ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่อง ไม่สามารถทำเองหรือคนใดคนหนึ่งทำได้ แต่ต้องทำร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งฝั่งผู้ประกอบการที่ต้องกล้าออกมาเปิดบริษัท และสร้างสิ่งใหม่เพิ่มขึ้น เล่นกับสิ่งที่เป็นเวฟ 3.0 ให้มากที่สุด ฝั่งรัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายที่สอดคล้องกับการสร้างสิ่งใหม่ขึ้น เป็นกฎหมายที่เข้าใจเทคโนโลยี เหมือนการออกกฎหมายให้คนไทยถือปืน ต่างชาติถือมีด เพราะกฎหมายที่ผ่านมา เป็นการออกแบบคนไทยถือมีด แต่ต่างชาติถือปืน เดินหมากผิดมาตลอดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้เทคโนโลยีที่ผ่านมาในเวฟ 1.0 ถึง 2.0 เป็นของชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด ซึ่งถามว่า มีแอพพลิเคชั่นอะไรที่เป็นของคนไทยบ้าง เชื่อว่าน่าจะมีแค่แอพของธนาคารเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นของต่างชาติทั้งหมด โดยสาเหตุที่เราไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ เพราะผิดกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายตามไม่ทัน ซึ่งไทยจะต้องออกกฎหมายที่ทันต่อโลกและเทคโนโลยี เหมือนสหรัฐและจีน ที่เข้าใจในเรื่องนี้และออกกฎที่เอื้อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากธุรกิจสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ แม้มีผู้เล่นชนะเพียงแค่ 1 ราย แต่เท่ากับว่าชนะได้ทั้งหมดทั่วตลาดทันที” นายจิรายุส กล่าว

 

นายจิรายุส กล่าวว่า รวมถึงข้อจำกัดของประเทศไทยในเรื่องของการมีไอเดีย แต่หาแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดให้ไอเดียเหล่านั้นเป็นจริงได้ค่อนข้างยาก ตัวอย่างในต่างประเทศ เด็กอายุ 18-19 ปี สามารถนำไอเดียของตัวเองผ่านกระดาษและสามารถนำไปให้ภาครัฐพิจารณา เพื่อของบประมาณมาสานต่อไอเดียของตัวเองได้ทันที แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ ไม่มีใครอยากลงทุนในขั้นตอนที่เป็นการเริ่มต้นไอเดีย คนส่วนใหญ่แย่งกันลงทุนในสิ่งที่ทำขึ้นมาจนเห็นผลสำเร็จแล้ว เพราะไม่มีใครอยากเก็บเงินฝากธนาคาร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก พอเห็นอะไรที่ประสบความเร็จและมีกำไรแล้วก็แย่งกันลงทุน ทำให้ภาครัฐไม่ควรเข้ามาชิงพื้นที่ลงทุนกับภาคเอกชน ในขั้นตอนที่เริ่มใกล้ประสบความสำเร็จหรือสำเร็จแล้ว แต่ควรลงทุนในช่วงเริ่มต้นไอเดีย การพัฒนาและต่อยอดมากกว่า อย่างน้อยก็ให้ไอเดียถูกพัฒนาให้เห็นเป็นโครงสร้าง หรือเป็นรูปเป็นร่างก่อน

 

นายจิรายุส กล่าวว่า นอกจากนี้ เป็นเรื่องการพัฒนาทักษะมนุษย์ ยกตัวอย่างในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สถานศึกษายังไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีสกิลตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้เพียงพอ อาทิ บริษัท บิทคับฯ เปิดรับสมัครพนักงาน 500 อัตรา แต่ยังหาไม่ได้มากนัก ขณะที่มีนักศึกษาจบใหม่ตกงานจำนวนมาก เป็นที่มาของคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย คำตอบคือ เกิดช่องว่างระหว่างมนุษย์ ที่กว่าจะสอนความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงาน ทั้งบล็อกเชน เอไอ บิ๊กดาต้า ไม่สามารถสอนให้เข้าใจได้ภายในระยะเวลารวมเร็ว ทำได้เพียงเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงานเท่านั้น โดยวิธีการลดช่องว่างดังกล่าวลงคือ การดึงให้คนที่มีความสามารถ และเก่งในสิ่งใหม่เหล่านี้ มาสอนผู้อื่น เพื่อสร้างองค์ความรู้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง