"เขื่อนอุบลรัตน์" เต็มความจุ! เตือน 5 จังหวัดรับน้ำท่วมสูงขึ้นอีก
"เขื่อนอุบลรัตน์" มีแนวโน้มสูงขึ้น ล่าสุดเกินความจุ 122% เตือน 5จังหวัดด้านท้าย เตรียมรับน้ำท่วมสูงอีก
กรมชลประทาน รับมือระดับน้ำในลำน้ำพองและแม่น้ำชี ด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชี เนื่องจากเขื่อนอุบลรัตน์ เกินความจุ 122% เตือน 5 จังหวัดด้านท้าย เตรียมรับน้ำท่วมสูงอีก
โดยเมื่อวันที่ (6 ตุลาคม 2565) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 48/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชี โดยระบุว่ากอนช. ติดตามปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 65 มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ ประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งสามารถระบายออกได้เพียงวันละ 41 ล้านลบ.ม.
ส่งผลให้ระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เพิ่มจนเกินระดับเก็บกักสูงสุดและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ระดับน้ำ + 183.35 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก) สูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 1.15 เมตร
เมื่อวันที่ (7 ต.ค. 65) ปริมาตรน้ำ 2,969 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 122 มีปริมาตรเกินความจุ 581 ล้าน ลบ.ม. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤตหรือสูงกว่าคันดินโนนสัง ซึ่งเป็นคันดินป้องกันชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเขื่อนอุบลรัตน์ ดังนี้
-ระดับน้ำจะสูงถึงระดับเตือนภัย (+183.50 ม.รทก.)
ในวันที่ 7 ต.ค. 65 และสูงถึงระดับวิกฤต (+184.00 ม.รทก.) ในวันที่ 8 ต.ค. 65 เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเขื่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ตั้งแต่วันนี้ (7 ต.ค. 65) จะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้น และอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.อุบลรัตน์ เขาสวนกวาง ซำสูง น้ำพอง และเมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบ จากน้ำท่วมในปัจจุบันจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบ กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคัน บริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบ ซ่อมแซม คันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ
เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที รวมทั้งปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการหน่วงน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ ที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้เตรียมป้องกันระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
ภาพจาก ผู้สื่อข่าวขอนแก่น