รีเซต

อนุทิน สั่ง นพ.สสจ.-อสม.ทั่วไทย จัดแผนรับคนไหลออกจากกรุง ผลิตยาต้านโควิดเสริมนำเข้า

อนุทิน สั่ง นพ.สสจ.-อสม.ทั่วไทย จัดแผนรับคนไหลออกจากกรุง ผลิตยาต้านโควิดเสริมนำเข้า
มติชน
28 มิถุนายน 2564 ( 14:28 )
50
อนุทิน สั่ง นพ.สสจ.-อสม.ทั่วไทย จัดแผนรับคนไหลออกจากกรุง ผลิตยาต้านโควิดเสริมนำเข้า
 

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลร่วมกับผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) เพื่อวางแนวทางรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยใช้เวลาประชุมร่วม 2 ชั่วโมง

 

 

 

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เป็นการเรียกประชุมเพื่อให้เกิดการปฏิบัติโดยทันที ให้ นพ.สสจ.ทุกจังหวัด บริหารจัดการโรงพยาบาล (รพ.) ในจังหวัดของตนเอง ให้เป็นเครือข่ายอย่างเต็มที่ ตรวจสอบทรัพยากร ยาเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อพร้อมให้การรักษาผู้ป่วย

 

 

 

“ดังนั้น แต่ละจังหวัดจะมีระบบรักษาพยาบาล ให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต บริหาร รพ.ทุกแห่ง หากมีความจำเป็นต้องใช้เตียง อุปกรณ์ ห้องรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เรายังสามารถบริหารจัดการดูแลได้ ส่วนเรื่องยาดูแลอาการผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้ ผู้อำนวยการองค์เภสัชกรรม (อภ.) รายงานว่า อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อผลิตในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “ยาฟาเวียร์” คาดว่าจะทราบผลกลางเดือนกรกฎาคมนี้ และสามารถเริ่มผลิตในเดือนสิงหาคม ด้วยกำลังการผลิต 2 ล้านเม็ดต่อเดือน เป็นช่วงเริ่มต้นที่นำมาเป็นส่วนเสริมจากที่มีการนำเข้า” นายอนุทิน กล่าว

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับนโยบายดังกล่าว ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่วันนี้ จะมาเน้นให้แต่ละพื้นที่ดูแลเขตตัวเอง เฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าพื้นที่ อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งการกลับไปจะทำให้การควบคุมดูแลในแต่ละจุด ผ่านระบบจังหวัด ระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) น่าจะทำได้ดีขึ้น

 

 

 

“แต่เราต้องเน้นให้กลับมาใช้ระบบนี้ ซึ่ง สธ.ให้ความสำคัญในการรักษาไม่ให้เกิดการป่วยหนักจนถึงเสียชีวิต ส่วนการป้องกันติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน เราก็ทำในระบบควบคุมโรค แต่สิ่งที่เราทำได้ตามความรับผิดชอบของ สธ. คือการรักษาพยาบาล แต่เรื่องการควบคุมป้องกันโรค ควบคุมคน เราต้องพึ่งพาอาศัยหน่วยงานอื่นๆ เช่น ความมั่นคง ฝ่ายปกครอง เราพยายามทำให้ความหนาแน่นในกรุงเทพมหานครลดลง เราก็จะเร่งช่วยแบ่งเบาภาระไป ไม่โทษว่าความผิดใคร รับทราบถึงปัญหาของกรุงเทพฯ แม้ว่า สธ.จะเข้าไปบริหารจัดการไม่ได้ แต่เราพร้อมที่จะแบ่งเบาภาระของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้มากที่สุด” นายอนุทิน กล่าวและว่า ส่วนของแรงงานที่มีการเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนานั้น ให้มีการปฏิบัติมาตรการควบคุมป้องกันภายใต้มาตรการที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ เช่น การให้มีกักตัวในสถานกักกันโรคท้องถิ่น (Local Quarantine) โดยเฉพาะคนต่างถิ่น ทั้งนี้ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม หากเป็นแรงงานผิดกฎหมายนายจ้างต้องดูแลด้วย

 

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า วันนี้ ตนจะไปหารือกับเจ้าของพื้นที่ตั้ง รพ.บุษราคัม เพื่อขอความอนุเคราะห์เงื่อนไขใช้พื้นที่ต่อ อย่างไรก็ตาม เราสามารถใช้พื้นที่ได้ถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

 

 

“ตอนนี้ก็จะเปิดฮอลล์เพิ่มเพื่อขยายเตียงให้ได้อีกหลายพันเตียง และส่วนของกองทัพที่ใช้มณฑลทหารบกที่ 11 จัดตั้งเป็น รพ.สนาม มทบ.11 ก็จะมีการตั้งเตียง Cohort-ICU ด้วย คาดว่ารองรับได้ 180 กว่าเตียงนายอนุทิน กล่าวและว่า ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะนี้ฉีดสะสม 9 ล้านโดส และจะเร่งฉีดให้ครบ 10 ล้านโดสในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้โดยได้เน้นย้ำในทุกจังหวัดให้ฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ให้ครบถ้วนภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ศบค. เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ ดังนั้น เราให้ความเชื่อมั่นว่าวัคซีนมีเพียงพอในการฉีด

 

 

ด้าน นายสาธิต กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน หรือ โฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) นั้น จะอยู่ภายใต้การการพิจารณาของบุคลากรการแพทย์ และอยู่ในระบบการตรวจสอบ ติดตามอาการ หากอาการเปลี่ยนแปลงก็มีระบบส่งต่อไปรักษาตัวยัง รพ. โดยแนวทางดังกล่าวเริ่มดำเนินการแล้ววันนี้ (28 ถุนายน 2564) เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง