บล.กสิกรฯคาด GDP Q4/67 โต 3-4% มีลุ้นธปท.ลดดบ.-แนะหุ้นการเงิน-โรงไฟฟ้า
#หุ้นเด่น #ทันหุ้น – บทวิเคราะห์ โดย บล.กสิกรไทย
อุปสงค์เร่งตัวหนุนจากมาตรการแจกเงิน
เศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุนด้วยมาตรการแจกเงินสดของรัฐ แต่ตัวชี้วัดเศรษฐกิจทางด้านอุปทานยังคงอ่อนแอ
เราคาดว่า GDP ของไทยไตรมาส 4/67 จะเติบโต 3-4% YoY จากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานที่ต่ำของการใช้จ่ายของรัฐบาลและยอดส่งออกปีที่แล้ว
เรามองมีความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ท่ามกลางแรงกดดันจากธนาคารกลางในภูมิภาดและสภาวะทางการเงินที่ตั้งตัว
Key Highlights
เศรษฐกิจฝั่งอุปสงค์ – การฟื้นตัวหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตัวชี้วัดเศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ (demand-side economy) ฟื้นตัวดีขึ้นโดยเห็นการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนต.ค. จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการโอนเงินสด 10,000 บาท ส่งผลให้การใช้จ่ายเกิดการฟื้นตัวในวงกว้างทั้งในสินค้าไม่คงทน สินค้าคงทน และบริการที่เพิ่มขึ้นขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญจากการใช้จ่ายในหมวดเครื่องจักร อุปกรณ์ และภาคการก่อสร้าง ขณะที่ยอดส่งออกทรงตัวในเดือนนี้ แต่เดิบโตแรงในเชิง YoY จากฐานที่ต่ำปีก่อน
เศรษฐกิจฝั่งอุปทาน - ผลผลิตภาพรวมยังอ่อนแอ
อย่างไรก็ดี ด้านตัวบ่งชี้เศรษฐกิจทางด้านอุปทาน (supply-side economy) ยังคงอ่อนแอ โดยผลผลิตภาคเกษตรหดตัวและกิจกรรมการผลิตยังอ่อนแอท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคยานยนต์ โดยผลผลิตภาคเกษตรหดตัวต่อจากปัจจัยทางสภาพอากาศ เช่นสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เข้ามากระทบในปีนี้ แม้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้ว แต่กิจกรรมโดยรวมยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะเนื่องจากยอดการผลิตที่ลดลงในภาคยานยนต์ตามยอดขายในประเทศและยอดส่งออกรถยนต์ที่อ่อนแอ
เสถียรภาพทางการเงิน - อยู่ในโหมดรอประเมินผลทางนโยบาย
อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นในเชิง YoY เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สาเหตุหลักมาจากฐานราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้าที่ต่ำเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ารอบ 2 หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนนำนางกมลา แฮร์ริส ในผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5-2 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps หรือจาก 2.50% เป็น 2.25% เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน
Implication and Recommendation
แรงกดดันจากธนาคารกลางในภูมิภาคและสภาวะทางการเงินที่ตึงตัว
เราคาดว่าการเติบโตของ GDP ของไทยน่าจะเร่งตัวขึ้น 3-4% YoY ในไตรมาส 4/67 โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ รายงานรายเดือนของ ธปท. ยังสะท้อนเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแจกเงินสดในไตรมาสนี้ด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ด้านอัตราเงินเฟ้อของไทยมองยังคงเพิ่มขึ้นต่อจากราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้าที่ต่ำในปีที่แล้วจากการอุดหนุนของรัฐบาล แต่เรามองนั้นไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เนื่องจากเราเห็นธนาคารกลางสำคัญในภูมิภาคอย่าง ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อีกทั้งภาพสินเชื่อทั้งระบบมีภาพของการหดตัวลง ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะการเงินที่ดึงตัว ดังนั้นเรายังมองว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในไตรมาส 1/2568 ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยสร้างแนวโน้มเชิงบวกให้กับกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับอัตราดอกเบี้ยขาลง เช่น กลุ่มการเงิน (MTC และ TIDLOR) และกลุ่มโรงไฟฟ้า (GPSC และ BGRIM)