‘สมคิด’ ย้ำบีโอไอเร่งศึกษาแพ็กเกจปั้นผู้ประกอบการเป็นยูนิคอร์นภายใน 5 ปี-ดันไทยฮับซีแอลเอ็มวีที
‘สมคิด’ ย้ำบีโอไอเร่งศึกษาแพ็กเกจปั้นผู้ประกอบการไทยเป็นยูนิคอร์นภายใน 5 ปี สร้างความเข้มแข้งอุตฯ อาหาร-เกษตรแปรรูปด้วยลำแข้ง ดันไทยฮับซีแอลเอ็มวีที หวังดึงเอฟดีไอโตสวนกระแสโลกที่ปีนี้คาดลดฮวบ 30-40%
ปั้นผู้ประกอบการเป็นยูนิคอร์น - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอเร่งศึกษามาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการไทยมีการลงทุนในประเทศมากขึ้น ตั้งเป้าหมายยกระดับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพขนาดกลางและรายย่อยไปสู่การเป็นยูนิคอร์นภายใน 5 ปี มีมูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย)
ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปของไทยมีความได้เปรียบในแง่ของผลผลิตด้านการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นวัตถุดิบที่ต่างชาติให้การยอมรับ การเชื่อมโยงโลจิสติกส์ สิทธิประโยชน์ และมีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็ง แม้จะมีอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่น แต่ไทยก็ยังเป็นประเทศที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งในระยะข้างหน้าอุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ดิจิตอล ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตสดใส
“วันนี้ให้โจทย์บีโอไอไปว่าถ้าไทยจะเป็นฮับเหล่านี้จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนได้อย่างไร โดยให้ระดมสมองร่วมกับสถาบันการศึกษา เน้นการพัฒนาและยกระดับเกษตรกรรมในระดับท้องถิ่น จูงใจให้คนไทยกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ ซึ่งอยากให้บีโอไอสร้างการเชื่อมโยงกับเกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ตฟาร์มเมอร์) นำไปสู่การเชื่อมโยงการตลาดโลก ซึ่งเชื่อว่าบีโอไอจะสามารถออกแบบมาตรการส่งเสริมได้ไม่ยากนัก”
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางเชิงนโยบายจากที่เคยเน้นดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนและผลิตสินค้าในไทยเป็นหลักก่อน ช่วยสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศ สุดท้ายนักลงทุนต่างชาติก็จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวันที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม บีโอไอจะนำเสนอมาตรการดังกล่าวให้ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบต่อไปเร็วๆ นี้ เพิ่มเติมจากที่ผ่านมาที่คณะกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจามีอำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนขนาดวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้ทันทีโดยไม่ต้องเสนอให้บอร์ดบีโอไอพิจารณา
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า จากการประเมินระดับโลกมองภาพรวมเอฟดีไอทั่วโลกปีนี้จะลดลงกว่า 30-40% ซึ่งเรามั่นใจว่าหากบีโอไอสามารถดึงธุรกิจที่สำคัญเข้ามาลงทุนในไทยได้ จะทำให้เอฟดีไอของไทยมีตัวเลขที่ดีกว่าระดับโลก ขณะที่ภาพรวมการขอส่งเสริมการลงทุนปีนี้บีโอไอยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจมีระดับที่ลดลงจากเดิมพอสมควร แต่เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด
เบื้องต้นบีโอไอมีแพ็กเกจใหม่เพิ่มเติม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการเกษตร โดยการจับคู่กันส่งวัตถุดิบทางการเกษตรเข้าสู่กระบวนการผลิต เริ่มต้นจากกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐานต่างๆ ซึ่งในการประชุมบอร์ดบีโอไอวันที่ 17 มิ.ย.นี้ จะหารือปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรให้เหมาะสมมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเพิ่มประเภทอุตสาหกรรมการเกษตร 1 ประเภท ได้แก่ โรงงานผลิตพืชแห่งอนาคต หรือ แพลนท์ แฟคตอรี่ (Plant Factory) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพืชที่มีระบบการปลูกพืชที่ควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซ และสารละลายธาตุ ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง และได้ผลผลิตสม่ำเสมอ
ขณะเดียวกันได้หารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) ถึงสถานการณ์ความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย โดยได้รับคำยืนยันว่าบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมองประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับการลงทุน และยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ต่างชาติสนใจลงทุนเพิ่มเติมโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหาร ดังนั้นบีโอไอต้องเน้นการเจรจาที่เข้าถึงให้สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไทยได้