รีเซต

สธ.เล็งสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทยเพิ่ม เร่งสรุปออกหนังสือรับรองกลุ่มฉีดครบ 2 เข็ม

สธ.เล็งสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทยเพิ่ม เร่งสรุปออกหนังสือรับรองกลุ่มฉีดครบ 2 เข็ม
มติชน
4 มีนาคม 2564 ( 14:45 )
45
สธ.เล็งสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทยเพิ่ม เร่งสรุปออกหนังสือรับรองกลุ่มฉีดครบ 2 เข็ม

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ.กล่าวภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. ด้านโควิด-19 ที่มี นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีการหารือกัน 2 เรื่อง เรื่องแรกเห็นว่า ประเทศไทยต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากที่มียอดซื้ออยู่แล้ว 63 ล้านโดส ซึ่งจำนวนไม่ได้กำหนดชัด แต่มีการคำนวณจากประชากรไทยกว่า 65 ล้านคน หักกลุ่มวัยรุ่นออก จะเหลือประชาชนที่เข้าข่ายได้รับรับวัคซีนประมาณ 50 ล้านคน บวกคนต่างด้าวอีกประมาณ 5 ล้านคน จากนั้นคิดที่ร้อยละ 80 ของจำนวนคน 55 ล้านคน จึงประมาณการณ์ว่ามีคนควรได้รับวัคซีนประมาณ 40 ล้านคน คนละ 2 โดส จึงต้องใช้วัคซีน 80 ล้านโดส ดังนั้น เท่ากับว่าเราควรหาวัคซีนเพิ่มอีกประมาณ 15-20 ล้านโดส โดย โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นวัคซีนชนิดใด แต่ไม่ได้คุยกันเรื่องราคาว่าต้องมีกำหนดเพดานที่เท่าไร

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่เสี่ยง และจังหวัดท่องเที่ยวมีความต้องการสูง ที่ปรึกษาฯ จึงเห็นว่าควรหาวัคซีนเพิ่มเข้ามาให้เร็วที่สุดภายในปีนี้

 

“ที่ปรึกษาบางท่านมีข้อเสนอถึงการให้เอกชนเข้ามาร่วมมือในการจัดหาวัคซีน ก็ต้องไปดูรายละเอียดของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าจะเป็นแบบใด ซึ่งหากเอาเข้ามาได้จริงๆ ก็ต้องเข้าระบบเรื่องการตรวจสอบ ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีนของ สธ.ที่ทำเอาไว้แล้ว” นพ.โสภณ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีน หลังฉีดครบ 2 เข็ม จะออกหนังสือรับรองที่เป็นรูปเล่ม และแบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนรูปแบบที่เป็นสากลยอมรับกันได้ทั่วโลกนั้น ยังต้องรอองค์การอนามัยโลกเป็นผู้พิจารณาออกหลักเกณฑ์ซึ่งเราก็รอดูอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้ (4 มีนาคม 2564) จะมีการหารือในรายละเอียดในที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 8 มีนาคมนี้

 

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ไม่ได้ปิดกั้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หากใครจะสามารถจัดหาวัคซีนเข้ามาได้ แต่ก็ขอให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าให้ถูกต้องกับ อย. ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี รพ.เอกชนแห่งใด มายื่นทะเบียนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ อย.ก็จะมีการประชุมทำความเข้าใจกับภาคเอกชนด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทยขณะนี้ นอกจากบริษัท ซิโนแวค และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า แล้ว ก็มีจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และบริษัท บารัต ไบโอเทค ของประเทศอินเดีย มายื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนด้วย อยู่ระหว่างการพิจารณา

 

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการติดตามและรับมืออาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด-19 ว่า สธ.ได้ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่กลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 3 มีนาคม 2564 (เวลา 18.00น.) ภาพรวมมีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 13,464 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), บุคลากรด่านหน้าอื่นๆ, ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และประชาชนที่มีโรคประจำตัว ในจำนวนนี้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 119 คน ส่วนมากมีอาการข้างเคียงเพียงเล็กน้อย ได้แก่ อักเสบบริเวณที่ฉีด, ไข้, หนาวสั่น, เหนื่อย, ปวดเมื่อยเนื้อตัว, คลื่นไส้, แน่นหน้าอกเป็นต้น จะหายได้ภายใน 1-2 วัน

 

“ส่วนอาการข้างเคียงรุนแรงหรืออาการแพ้รุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า 1 ในล้านโดส เช่น ไข้สูง ผื่นขึ้นทั้งตัว ปวดศีรษะรุนแรงหายใจลำบาก อาการชัก เป็นต้น เมื่อกลับบ้านแล้วหากพบอาการดังกล่าวให้โทรกลับไปที่โรงพยาบาลที่รับการฉีดวัคซีน สถานพยาบาลได้จัดระบบมีความพร้อมให้การดูแลอย่างเต็มที่ หรือ โทรสายด่วน1669 ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เตรียมความพร้อมระบบสายฉุกเฉิน ในการตอบข้อซักถาม ให้ข้อมูลประชาชน ประสานสั่งการ รับแจ้งเหตุหากมีความจำเป็นในกรณีที่ประชาชนมีอาการรุนแรงจากการได้รับวัคซีน

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โดยปกติอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนมักเกิดขึ้นภายใน 15 นาที สธ.จึงได้เตรียมระบบรองรับไว้แล้ว โดยหลังการฉีดเจ้าหน้าที่จะให้พักรอสังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาที ที่โรงพยาบาล มีแพทย์ พยาบาลดูแลสอบถามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยไม่มีอาการใดๆ ก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน รวมถึงให้คำแนะนำ แผ่นพับในการเฝ้าระวังอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ และเบอร์ติดต่อกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ จากนั้นจะมีการติดตามอาการอีกในวันที่ 1, 7 และ 30 ผ่านทางไลน์ “หมอพร้อม” หรือมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) , อสม. เป็นผู้ติดตามอาการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง