รีเซต

การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของ สาธารณรัฐประชาชนจีนท่าจะไปไม่ไหวเสียแล้ว

การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของ สาธารณรัฐประชาชนจีนท่าจะไปไม่ไหวเสียแล้ว
มติชน
1 กันยายน 2564 ( 14:45 )
55
การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของ สาธารณรัฐประชาชนจีนท่าจะไปไม่ไหวเสียแล้ว

ทะเลจีนใต้เป็น marginal sea คือเป็นทะเลที่ถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดิน เกาะ หรือคาบสมุทร มีส่วนเปิดที่ติดต่อกับทะเลเปิดที่ผิวน้ำและอาจมีสันเขาใต้ทะเล โดยทะเลจีนใต้ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่ประเทศสิงคโปร์ไปจนถึงช่องแคบไต้หวัน รวมทั้งอ่าวตังเกี๋ยและอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาะไต้หวัน ทิศตะวันตกจรดประเทศฟิลิปปินส์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจรดรัฐซาบะฮ์และรัฐซาราวักของประเทศมาเลเซียและประเทศบรูไน ทะเลจีนใต้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินโดนีเซียและทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดคาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ และทิศตะวันออกจรดประเทศเวียดนาม เนื้อที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตร ทะเลจีนใต้มีความสำคัญเพราะมีเส้นทางขนส่งทางเรือผ่านคิดเป็นหนึ่งในสามของโลก นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า ใต้พื้นทะเลมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่ด้วย อาณาเขตของทะเลจีนใต้ หมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกาะ มีจำนวนหลายร้อยเกาะ ทะเลและเกาะที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยส่วนใหญ่นี้เป็นหัวข้อพิพาทอธิปไตยโดยหลายประเทศ ข้อพิพาทเหล่านี้ยังได้สะท้อนในชื่ออันหลากหลายที่ตั้งให้เกาะ
และทะเลในทะเลจีนใต้แห่งนี้

 

 

 

สาธารณรัฐประชาจีนอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่มากที่สุดประมาณ 90% ของทะเลจีนใต้ โดยใช้ “เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ห่างจากมณฑลไหหลำทางใต้สุดของจีนไปทางใต้และทางตะวันออกหลายร้อยกิโลเมตร รัฐบาลจีนบอกว่ากรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปนานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยที่หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน และใน พ.ศ.2490 จีนได้ทำแผนที่ที่ระบุถึงรายละเอียดในการอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเขตแดนของจีน อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งว่าจีนไม่ได้อธิบายกรรมสิทธิ์ของจีนอย่างชัดเจนเพียงพอ และ “เส้นประ 9 เส้น” ที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ของจีนล้อมรอบพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ไม่มีระยะพิกัดกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จีนอ้างกรรมสิทธิ์เฉพาะดินแดนที่เป็นแผ่นดินภายในขอบเขตเส้นประ 9 เส้น หรือรวมถึงน่านน้ำทั้งหมดในบริเวณนั้นด้วยเวียดนามโต้แย้งการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของจีน โดยระบุว่า จีนไม่เคยมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้มาก่อน เวียดนามบอกอีกด้วยว่า เคยปกครองหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และมีหลักฐานหลายอย่างพิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้ทำให้ทั้งจีนและเวียดนามปะทะกันทางเรือจนเกิดความเสียหายถึงขั้นเสียชีวิต จับตัวไปและจมเรือกันมาแล้วหลายครั้ง

 

 

 

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อ้างเรื่องภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีเป็นเหตุผลหลักในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่บางส่วนของหมู่เกาะแห่งนี้ทั้งฟิลิปปินส์และจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสันทราย
สการ์โบโรห์ ซึ่งอยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ราว 160 กม. และห่างจากจีนราว 800 กม. จีนเรียกสันทรายนี้ว่า “เกาะหวงเยียน” สำหรับกรณีนี้ฟิลิปปินส์เคยยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ แต่จีนไม่ยอมรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ศาลโลกตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะเมื่อ พ.ศ.2559 มิหนำซ้ำจีนได้สร้างเกาะเทียมบนแนวปะการังหลายแห่งในหมู่เกาะสแปรตลี มีสิ่งปลูกทางการทหารบนเกาะรวมถึงทางวิ่งเครื่องบินยาว 3,000 เมตร ท่าเทียบเรือ โรงเก็บเครื่องบิน คลังเก็บอาวุธ ฐานยิงขีปนาวุธ และสถานีเรดาร์แล้วยังมี อาคารที่พักอาศัย ตึกที่ทำการของรัฐบาลท้องถิ่น โรงพยาบาลหรือแม้แต่ศูนย์กีฬาอยู่บนเกาะเทียมที่ปัจจุบันเริ่มมีความเขียวขจีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยแนวปะการังซูบีถูกแปลงสภาพ
เป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีทั้งสวนปลูกผลไม้และพืชผักต่างๆ ซึ่งใช้ฝูงผึ้งที่นำมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ในการช่วยผสมเกสร นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงหมู สัตว์ปีก และบ่อเลี้ยงปลา

 

 

 

นอกจากนี้ ประเทศมาเลเซียและประเทศบรูไนก็ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของแต่ละประเทศ ตามคำนิยามของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล โดยบูรไนไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะพิพาททั้ง 2 แห่ง แต่มาเลเซียอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะขนาดเล็กจำนวนหนึ่งในหมู่เกาะสแปรตลีด้วย

 

 

ส่วนประเทศอินโดนีเซียยักษ์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของทะเลจีนใต้ก็ไม่ยอมรับการอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่ทะเลจีนใต้ตามเส้นประ 9 เส้นของจีนโดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ทางทะเลใกล้เกาะนาทูนาที่จีนอ้างสิทธิประโยชน์ในบริเวณดังกล่าวด้วยเช่นกันโดยกองทัพอินโดนีเซียเพิ่มศักยภาพทางทหารบริเวณเกาะนาทูนา รวมถึงผืนน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน

 

 

สรุปแล้วทุกประเทศที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับจีนในทะเลจีนใต้ไม่มีประเทศใดยอมรับอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่ทะเลจีนใต้ของจีนเลยขณะที่จีนได้กระทำการคุกคามไต้หวันอย่างหนักทำให้สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ทำการชักชวนพันธมิตรนาโตได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีให้ส่งกองเรือรบมาร่วมซ้อมรบกับสหรัฐอเมริกาในทะเลจีนใต้หรือส่งกองเรือรบมาเยือนประเทศที่มีข้อพิพาทในพื้นที่ทะเลจีนใต้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นการสนับสนุนประเทศเหล่านั้น และสหรัฐอเมริการวบรวมพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อันมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวันและอินเดียมาร่วมกันซ้อมรบทางเรืออยู่ในขณะนี้เป็นการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งถึงการท้าทายต่ออ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้อย่างชัดแจ้ง

 

 

 

ดังนั้น การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนท่าจะไปไม่ไหวเสียแล้วเพราะดูแล้วไม่มีประเทศใดเอาด้วยและสนับสนุนจีนเลยแม้แต่ประเทศเดียว ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ต่อต้านการอ้างกรรมสิทธิ์พื้นที่มากที่สุดประมาณ 90% ของทะเลจีนใต้ โดยใช้ “เส้นประ 9 เส้น” อย่างแข็งขันและจริงจังที่สุด

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง