วันนี้ (19ส.ค.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)” นัดแรก
ภายหลังการประชุม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสมิทธ์ พนมยงค์ โฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ และนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว โดยที่ประชุม เห็นชอบการแต่งตั้ง คณะกรรมการ ศบศ. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินการมาตรการเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย (1) ระยะเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด 19 และ (2) ระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดโควิด 19 สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทางการดำเนินการมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่ (Micro) ส่งเสริมการจ้างงานในระดับพื้นที่ โดยจะมีกลไกดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดเป็นหลัก และ (2) ระดับประเทศ (Macro) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ในระดับศักยภาพ การส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในภาพรวม รวมทั้งการวางรากฐานและผลักดันให้เศรษฐกิจปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยจะมีกลไกดำเนินการผ่าน คณกรรมการ ศบศ.เป็นหลัก
ที่ประชุมเห็นชอบกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด การส่งเสริมการจ้างงานโดยเฉพาะให้แก่ผู้จบการศึกษาใหม่ ควบคู่ไปกับการรักษาการจ้างงานภายในประเทศ การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงทั้งภาคการผลิตและภาคบริการให้สามารถฟื้นตัวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนและผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย และ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินเพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอมาตรการในระยะเร่งด่วนที่สำคัญ ๆ 4 มาตรการ ดังนี้ (1) มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว เราเที่ยวไปด้วยกัน อาทิ ขยายสิทธิ์การจองพัก จาก 5 คืนเป็น 10 คืน หรือ เพิ่มค่าท่องเที่ยวจาก 1,000 เป็น 2,000 บาท การวางแนวทางมาตรการนำร่องเพื่อเปิดรับท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ (ภูเก็ตโมเดล) อย่างรอบคอบและรัดกุม (2) มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจและ SMEs (3) มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน อาทิ การส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้ที่จบใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้งแรงงานในและนอกระบบ และการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับผู้มีรายได้น้อย และ (4) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ได้แก่ อาทิ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมระยะใหม่ และมาตรการเปิดรับผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม
ทั้งนี้ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดมาตรการในระยะเร่งด่วนตามกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจ รวมทั้งการขอต่ออายุและ/หรือข้อเสนอเพิ่มเติมของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจตามเหมาะสมและความจำเป็น โดยต้องเสนอในที่ประชุม ศบศ.ทุก 2 สัปดาห์ หรือหากประเด็นใดแล้วเสร็จ นำเนอ ครม.ได้ทันที
ที่ประชุม ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการทำงานของศบศ.โดยมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานและมีปลัดกระทรวงทุกกระทรวงเป็นคณะกรรมการ ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยติดตามและประเมินผลการทำงานของ คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น และสามารถให้ข้อเสนอแนะได้
นอกจากนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ยังได้เปิดโอกาสพบสื่อมวลชน ที่ตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำความเข้าในในแนวทางการทำงานร่วมกัน รวมถึง นโยบายต่างๆของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ยังระบุว่า บางมาตรการที่ศบค.นัดแรก ได้หารือกัน เตรียมที่นำเข้าสู่ที่ประชุมครม. สัญจร ที่จ.ระยองระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. เช่น การหารือ เรื่องการจ้างงาน แรงงานจบใหม่ ที่จะดำเนินการทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกัน รวมถึง มาตรการมาตรการปรับเงื่อนไขเราเที่ยวด้วยกัน