รีเซต

ครม. วาระพิเศษ มอบหมายให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

ครม. วาระพิเศษ มอบหมายให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี
TNN ช่อง16
15 สิงหาคม 2567 ( 17:02 )
23

วันนี้ (15 สิงหาคม 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้เป็นวาระพิเศษ สืบเนื่องมาจากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีนายกรัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีเรื่องแรก คือ คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 


คณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 10 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 บัญญัติให้ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาจะเข้ารับหน้าที่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง 


คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชชัย เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

 

นายภูมิธรรม ฯ ยังกล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบตามแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (4) ดังนี้


1) สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

1.1 สิ้นสุดลงแต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่เรียกว่ารักษาการ และได้รับเงินเดือนแต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

1.2 คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีนี้มีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น

1.3 การลงชื่อตำแหน่งของรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิมมิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง

1.4 ตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยทั้งหมด

1.5 ให้คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำรองนายกรัฐมนตรี ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

2) หลักการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

2.1 เรื่องที่เป็นนโยบายซึ่งมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ควรพิจารณา

2.2 เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนหรือเรื่องที่ต่อเนื่องให้พิจารณาดำเนินการเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากนั้นยังมีแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในส่วนของรายละเอียดทางนายวิษณุ เครืองาม จะเป็นชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่อไป





ภาพจาก รัฐบาลไทย

 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง