แคสเปอร์สกี้เผยตัวเลขการตรวจจับโมบายมัลแวร์สูงสุด ไทยติดอันดับ 44 ของโลก
แคสเปอร์สกี้เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดเรื่อง Mobile Malware Evolution 2020 แสดงการตรวจจับมัลแวร์บนอุปกรณ์โมบายในประเทศไทยจำนวน 28,861 ครั้งในปี 2020 อยู่ในอันดับที่ 44 ของโลก โดยอินโดนีเซียครองอันดับ 4 ของโลก และครองอันดับสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยมาเลเซีย (อันดับที่ 17) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 30) เวียดนาม (อันดับที่ 43) และสิงคโปร์ (อันดับที่ 86)
สำหรับบริการธนาคารบนอุปกรณ์โมบายและการใช้แอปการชำระเงิน ประเทศไทยได้รับตำแหน่งสำคัญในชาร์ตการจัดอันดับทั่วโลก จากรายงาน Digital 2020 ล่าสุดของ We Are Social ระบุว่าประเทศไทยครองอันดับหนึ่งของโลกด้านการใช้งานแอปบริการธนาคารและการเงิน คิดเป็น 68.1% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงอายุ 16-64 ปี
รายงานฉบับเดียวกันนี้เปิดเผยว่า ประเทศไทยครองอันดับสองด้านการชำระเงินผ่านอุปกรณ์โมบาย โดยมีผู้ใช้งานจำนวน 45.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 30.9% นอกจากนี้ประเทศไทยยังครองอันดับสองด้านการใช้งานโมบายคอมเมิร์ซ โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 74.2% อินโดนีเซียครองอันดับสูงสุดด้วยผู้ใช้ 79.1% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 55.4%
อัตราการใช้งานอุปกรณ์โมบายที่สูงนี้เรียกความสนใจจากอาชญากรไซเบอร์ สถิติมัลแวร์สำหรับอุปกรณ์โมบายปี 2020 ของแคสเปอร์สกี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการตรวจจับมัลแวร์บนอุปกรณ์โมบายจำนวน 28,861 ครั้งในปีที่แล้ว แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังมีภัยไซเบอร์ที่คุกคามผู้ใช้ในประเทศไทยที่ใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น
สถิติการตรวจจับโมบายมัลแวร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศ 2020 อันดับโลก 2019 อันดับโลก
อินโดนีเซีย 378,973 4 556,486 4
มาเลเซีย 103,573 17 145,047 19
ฟิลิปปินส์ 55,622 30 110,130 23
สิงคโปร์ 8,776 86 16,303 79
ไทย 28,861 44 44,814 44
เวียดนาม 29,399 43 40,041 51
นอกจากนี้ แคสเปอร์สกี้ยังบล็อกโทรจันธนาคารบนอุปกรณ์โมบาย 255 รายการในประเทศไทยในปี 2020 ด้วย
โมบายโทรจันบนอุปกรณ์โมบายเป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ยืดหยุ่น และอันตรายที่สุด โดยทั่วไปจะขโมยเงินโดยตรงจากบัญชีธนาคารของผู้ใช้งานอุปกรณ์โมบาย แต่บางครั้งจุดประสงค์ของโทรจันก็เปลี่ยนไปเป็นการขโมยข้อมูลประเภทอื่นๆ มัลแวร์จะดูเหมือนแอปที่ถูกต้องทั่วไป เช่น แอปพลิเคชั่นของธนาคาร เมื่อเหยื่อพยายามเข้าถึงแอปธนาคาร ผู้โจมตีก็สามารถเข้าถึงแอปนั้นได้เช่นกัน
นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของแคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “อาชญากรไซเบอร์มีกลยุทธ์หลายอย่างในมือ เช่น การหลอกล่อให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดแอป e-wallet ปลอมที่ดูถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วเป็นมัลแวร์ที่มีเป้าหมายในการแพร่ระบาดบนสมาร์ทโฟนที่ใช้สำหรับการชำระเงินดิจิทัล ผู้โจมตีจะคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเข้ารุกล้ำแพลตฟอร์ม e-wallet และด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง บวกกับช่วงเทศกาล เราจึงได้เห็นกลเม็ดวิศวกรรมสังคมอื่นๆ เพิ่มด้วย เช่น ฟิชชิ่งและกลโกงเพื่อหลอกล่อจิตใจมนุษย์”
“มาตรการปิดกั้นและการแยกตัวเองในระหว่างการแพร่ระบาดอาจส่งผลต่อจำนวนมัลแวร์อุปกรณ์โมบายที่ตรวจพบในประเทศไทย แต่ผู้ใช้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ตราบใดที่เราใช้อุปกรณ์โมบายในการทำธุรกรรมทางการเงิน เราควรระมัดระวังเกี่ยวกับลิงก์ที่เราคลิก แอปที่เราดาวน์โหลด เว็บไซต์ที่เราเข้าดู เราควรรักษาความปลอดภัยให้กับสมาร์ทโฟนเช่นเดียวการรักษากระเป๋าเงิน บัตรเดบิตและบัตรเครดิตของเราให้พ้นมือโจร” นายคริสกล่าวเสริม
ตัวเลขทั่วโลกในปี 2020 ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอุปกรณ์โมบายของแคสเปอร์สกี้ตรวจพบแพ็กเกจการติดตั้งที่เป็นอันตรายจำนวน 5,683,694 แพ็กเกจ ซึ่งมากกว่าปี 2019 ถึง 2,100,000 รายการ และตรวจพบโทรจันบนอุปกรณ์โมบายใหม่ 156,710 รายการ ซึ่งเป็นตัวเลข 2 เท่าของปีก่อน
แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์โมบายในประเทศไทย ดังนี้
• ดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชั่นจากร้านค้าแอปอย่างเป็นทางการเท่านั้น เช่น Google Play บนอุปกรณ์ Android หรือใน App Store บน iOS
• ปิดใช้งานฟังก์ชั่นสำหรับการติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่รู้จักในเมนูการตั้งค่าของสมาร์ทโฟน
• อย่ารูทอุปกรณ์ เพราะจะทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถโจมตีได้อย่างไร้ขีดจำกัด
• ติดตั้งการอัปเดตระบบและแอปพลิเคชชั่นทันทีเพื่อแก้ไขช่องว่างด้านความปลอดภัย ไม่ควรดาวน์โหลดการอัปเดตระบบปฏิบัติการอุปกรณ์โมบายจากแหล่งข้อมูลภายนอก
• เอาใจใส่รายละเอียดทางการเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งข้อสงสัยเสมอเพื่อความระมัดระวังตัว
• ใช้โซลูชั่นความปลอดภัยที่เชื่อถือได้เช่น Kaspersky Security Cloud เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่หลากหลาย