สทนช.เตือน 17 จังหวัด 1-5 ก.ค. ระวังน้ำท่วม-น้ำป่าหลาก

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และพบว่ามีพื้นที่บางส่วนเสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทันและระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลง ในช่วงวันที่ 1 - 5 กรกฎาคม 2568 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ
- จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง เชียงของ เวียงแก่น และเชียงแสน)
- จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง และอุ้มผาง)
- จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว ทุ่งช้าง ภูเพียง ท่าวังผา และเวียงสา)
- จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา ปง และเชียงม่วน)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย นาด้วง ด่านซ้าย นาแห้ว และปากชม)
- จังหวัดหนองคาย (อำเภอรัตนวาปี)
- จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ และปากคาด)
- จังหวัดอุดรธานี (อำเภอวังสามหมอ และหนองหาน)
- จังหวัดยโสธร (อำเภอเมืองยโสธร และมหาชนะชัย)
- จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอทุ่งเขาหลวง พนมไพร สุวรรณภูมิ เสลภูมิ หนองฮี และอาจสามารถ)
- จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอกาบเชิง บัวเชด และสังขะ)
- จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอศิลาลาด และภูสิงห์)
- จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียม สิรินธร พิบูลมังสาหาร และศรีเมืองใหม่)
ภาคตะวันออก
- จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และแหลมสิงห์)
- จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง และบ่อไร่)
ภาคใต้
- จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ ละอุ่น และกระบุรี)
- จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง)
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของความจุเก็บกักบริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง น่าน สุโขทัย พิษณุโลก สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และเร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยโทง และอ่างเก็บน้ำห้วยซวง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า จังหวัดกาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล จังหวัดตราด รวมทั้งพิจารณาพร่องน้ำในแหล่งน้ำ ได้แก่ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หนองหาร จังหวัดสกลนคร และ หนองกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำอิง บริเวณ อำเภอเชียงคำ เทิง พญาเม็งราย ขุนตาล และเชียงของ จังหวัดเชียงราย
4. เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีปริมาณฝนตกสะสม บริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้ม
ส่งผลกระทบพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
