รีเซต

เจดีย์ 'วัดเวียง' แตกร้าวหนัก หลังฝนถล่ม ต้องใช้เหล็กค้ำยัน เร่งขอกรมศิลป์บูรณะหวั่นทรุด

เจดีย์ 'วัดเวียง' แตกร้าวหนัก หลังฝนถล่ม ต้องใช้เหล็กค้ำยัน เร่งขอกรมศิลป์บูรณะหวั่นทรุด
มติชน
1 ตุลาคม 2563 ( 14:50 )
223

เจดีย์วัดเวียง เก่าแก่คู่ล้านนา อายุกว่า 1,500 ปี แตกร้าวหนัก วัดต้องใช้เหล็กค้ำยัน เร่งขอกรมศิลปากรบูรณะด่วน หวั่นทรุดถล่มลง

 

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พระครูจันทธรรมวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเวียง ม.2 ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง ได้พาผู้สื่อข่าวดูองค์เจดีย์ หรือพระธาตุวัดเวียง ซึ่งอยู่ภายในวัดเวียง โดยเป็นองค์พระธาตุเก่าแก่คู่เมืองเถิน และคู่ล้านนา กว่า 300 ปี หลังพบการแตกร้าวอย่างหนัก ทั้ง 4 ด้าน โดย พระครูจันทธรรมวัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.เถิน เกิดฝนตกหนักลงมา ส่งผลทำให้บริเวณกลางองค์พระธาตุ ที่มีอายุเก่าแก่ เกิดร้อยแตกร้าว และแตกกว้างมากขึ้น

 

ซึ่งเมื่อตรวจสอบโดยรอบพบร้อยแตกร้าวบริเวณกลางด้านบนขององค์พระธาตุทุกด้าน ทั้ง 4 ทิศ โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออก และด้านทิศเหนือ ที่มีรอยปริ และแตกแยก เป็นทางยาวกว่าด้านอื่น ทางวัดจึงแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ด้วยการเฝ้าสังเกตการณ์ทุกวัน และนำเหล็กมาค้ำยันไว้ รวมถึงนำพลาสติกใสมาคลุมจุดที่แตกร้าว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝน ซึมเข้าไปในองค์พระธาตุที่แตกร้าวอีก เพราะเกรงว่า อาจจะถูกน้ำฝนกัดเซาะ จนทำให้เสียหายหนักขึ้น

 

ทางวัดได้ติดต่อประสานยังสำนักศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ กรมศิลปากรที่ดูแลโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนือ ให้รีบเข้ามาบูรณะซ่อมแซมโดยเร็ว เพราะเกรงว่า จะเกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ หรืออาจจะเกิดทรุด และพังถล่มลงมาได้

 

 

ประวัติ วัดเวียง มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองเถินในอดีต ซึ่งพื้นที่เถิน หรือ อ.เถิน อยู่ทางตอนใต้ของ จ.ลำปาง โดยวัดเวียงถือว่าเป็นวัดหลวงกลางเมืองเถินในอดีต ที่เจ้าเมืองผู้ครองเมืองเถิน ได้อุปถัมภ์ดูแล โดยมีตำนานกล่าวถึงการบรรจุภายในพระธาตุเป็นเล็บมือขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรจุอยู่ในองค์เจดีย์ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ให้เป็นศาสนสถาน เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองเถิน จนอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

 

ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 1157 เจ้าดาวแก้วไข่ฟ้า เจ้าเมืองเถินสมัยนั้น ยังเคยสร้างอุโบสถขึ้น โดยมี นางจำปาเทวี หรือพระนางจามเทวี พระสหายของเจ้าเมือง ได้ช่วยกันก่อสร้าง ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระนางจามเทวี ได้ปลูกต้นขนุนขึ้น เพื่อเป็นหลักเมืองภายในวัด เรียกว่า ขนุนนางจามเทวี ซึ่งตามตำนาน มีอยู่เพียง 3 ต้น คือ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ , วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง และที่วัดเวียง อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเหนือ หรือล้านนาในอดีต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง