อมตะ ส่งสัญญาณเอาผิดผู้ละเมิดชื่อและเครื่องหมายการค้า AMATA
“อมตะ” ประกาศเตือน บุคคล ห้างร้าน และกลุ่มธุรกิจ ผู้ละเมิดสิทธิ์ใช้ชื่อ “อมตะ” หรือ AMATA และเครื่องหมายการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท แสวงหาผลประโยชน์โดยมิได้รับอนุญาต เตรียมเดินหน้าเอาผิดผู้ตั้งใจจดทะเบียนที่ใช้ชื่อรวมถึงดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน หวั่นสร้างความสับสนต่อสาธารณะ ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และผู้ใช้บริการในอนาคต
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) AMATA เปิดเผยว่า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอมตะในอนาคต บริษัทฯได้เตรียมดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคล ห้างร้าน กลุ่มธุรกิจ ที่มีการนำชื่อ “อมตะ” หรือ AMATA ไปใช้หรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มอมตะ รวมถึงนำไปใช้แสวงหาประโยชน์ทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทฯ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิด สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายวิบูลย์กล่าวว่า เบื้องต้นทีมกฏหมายของบริษัทฯได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มธุรกิจทั้งที่จดทะเบียน และไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับกระทรวงพาณิชย์ และเปิดดำเนินกิจการประเภทธุรกิจใกล้เคียงกับกลุ่มอมตะ เช่น การซื้อ-ขาย ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ การให้บริการด้านอื่นๆ
"รวมถึงสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ พบว่ามีกลุ่มธุรกิจจำนวนมากที่นำชื่อของอมตะ AMATA หรือ อมตะซิตี้ รวมถึงเครื่องหมายการค้าไปใช้ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากนักลงทุนและผู้เข้ารับบริการว่าเป็นธุรกิจของกลุ่มอมตะ ดังนั้นเพื่อการปกป้องปราบปราม และรักษาไว้ซึ่งสิทธิของบริษัทฯ จึงเตรียมดำเนินการทางกฏหมายกับกลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าวนับจากบัดนี้เป็นต้นไป” นายวิบูลย์กล่าว
การใช้ หรือ แอบอ้าง เครื่องหมายการค้า หรือ อักษรข้อความคำว่า “อมตะ” และ AMATA ในการผลิต และจำหน่ายสินค้า และหรือบริการใดๆ รวมถึงการเป็นผู้เกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้ดำเนินการลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ และ/หรือใช้ประโยชน์จากเครื่องหมาย และ/หรือข้อความดังกล่าวข้างต้น โดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคหรือบุคคลทั่วไปว่าเป็นกิจการหรือการกระทำของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ถือเป็นความผิดตามกฏหมาย
ฉะนั้น บริษัทฯ ใคร่ขอให้ยุติในการกระทำดังกล่าวโดยทันที หากพบว่ายังมีการฝ่าฝืน บริษัทฯ จะทำการส่งหนังสือชี้แจงถึงผู้ประกอบการ และหากยังคงมีผู้ฝ่าฝืนและ/หรือละเมิดสิทธิดังกล่าว บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุด
ทั้งนี้ เครื่องหมายการค้า “อมตะ” บริษัทฯได้มีการจดทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่ปี 2549 และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว