สนข.จัดเวิร์กชอปศึกษาการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุม-ไร้รอยต่อ
สนข.จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) รับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติแบบบูรณาการด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาคและประเทศ ผ่านระบบออนไลน์
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) รับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติแบบบูรณาการด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาคและประเทศ เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Webinar ณ ห้องประชุม 201 อาคาร สนข. โดยมีหน่วยในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 49 หน่วยงาน ที่ได้รับงบประมาณบูรณาการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เข้าร่วมการสัมมนาฯ ดังกล่าว
นางวิไลรัตน์ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน รัฐบาลจําเป็นต้องวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้มีเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน โดยกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในแต่ละด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กําหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความครอบคลุมและเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เพื่ออํานวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเดินทางและการขนส่ง เชื่อมโยงประเทศไทยกับประชาคมโลก ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงจําเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศรองรับความต้องการในการเดินทางและการขนส่งในอนาคต ให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การกําหนดทิศทางและขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและนําไปสู่การลดต้นทุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์อย่างแท้จริงนั้น จําเป็นจะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกันในหลายบริบทอย่างรอบด้าน อาทิ รูปแบบการคมนาคมและโลจิสติกส์ (Mode) ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ วัตถุประสงค์ในการคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือการขนส่งสินค้า มิติของการพัฒนาระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ เช่น มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติความมั่นคง เป็นต้น รวมทั้งศักยภาพของพื้นที่และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ของประเทศ เช่น ด้านการค้าการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม และด้านเกษตรกรรม เป็นต้น
นางวิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้ดําเนินการศึกษาการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ แบบบูรณาการด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาคและประเทศ เพื่อให้เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ และเป็นกรอบแนวทาง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปจัดทําแผนงาน/โครงการ ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ
อย่างไรก็ตาม สนข. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพหลักแผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2564 และได้รายงานผลให้สํานักงบประมาณทราบมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดทํารายงานการประเมินผลการดําเนินงานภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ในภาพรวม ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งเป็นผลผลิตที่สําคัญในการสะท้อนผลการดําเนินงานของแต่ละหน่วยรับงบประมาณทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
นางวิไลรัตน์ กล่าวตอนท้ายว่า สนข. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เพื่อแจ้งให้ทราบหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินผลการดําเนินงานภายใต้แผนงาน บูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2564 อีกทั้งยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ และความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งผลการพัฒนาที่ผ่านมา ตลอดจนปัญหา อุปสรรค และข้อจํากัดต่าง ๆ ซึ่ง สนข. จะนําความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับเพิ่มเติมจากการสัมมนาฯ ไปประยุกต์ใช้เพื่อประกอบการจัดทํานโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป