เมืองอุบลฯ-วารินชำราบ ยังวิกฤตหนักมาก ชาวบ้านถามหาส.ส.-ซัดกฎเหล็กกกต.ไม่ยุติธรรม
น้ำท่วมอุบล 2565 ยังหนัก ชาวบ้านถามหา ส.ส. ในพื้นที่อยากจะฝากความทุกข์ความยาก ให้ส.ส.ได้รับรู้สื่อไปถึงรัฐบาล
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี ระดับน้ำวันนี้อยู่ที่ 11.49 ม. ทำให้มีน้ำล้นตลิ่ง 4.86 เมตร พื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอุบลมากที่สุดยังคงเป็นในอำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยน้ำยังท่วมเข้าบ้านประชาชน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีปริมาณน้ำมูลตอนบนและแม่น้ำชี กำลังไหลมารวมกันที่ จ.อุบลราชธานี
ล่าสุดชาวบ้านได้ความเดือดร้อนและเสียหาย จำนวน 19 อำเภอ 139 ตำบล 1,205 หมู่บ้าน ด้านการดำรงชีพ จำนวน 38 ตำบล 246 หมู่บ้านได้รับผลกระทบ 17,816 ครัวเรือน 59,233 คน ถนน 157 สาย วัดและสำนักสงฆ์จำนวน 65 แห่ง โรงพยาบาล สต. 9 แห่ง โรงเรียน 52 โรงเรียน อพยพ 246 ชุมชน 10,844 ครัวเรือน 32,973 คน แยกเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว 116 จุด จำนวน 5,414 ครัวเรือน 21,122 คน พักบ้านญาติ จำนวน 2,306 ครัวเรือน จำนวน 3,624 คน อพยพขึ้นที่สูง 3,123 ครัวเรือน 8,227 คน จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย 18 อำเภอ พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 335,335 ไร่ พื้นที่ประมง ได้รับความเสียหาย 872.55 ไร่
นอกจากนี้ แม่น้ำมูลน้อยซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลได้เอ่อท่วมสวนสัตว์อุบล เจ้าหน้าที่ได้ย้ายสัตว์ขึ้นที่สูง สำหรับส่วนที่ได้รับผลกระทบได้แก่โซน จัดเลี้ยงนกคลาสโซวารี, นกอีมู และราฟรีเมอร์ เบื้องต้นได้มีการสำรองอาหารสัตว์เพื่อให้เพียงพอตลอดช่วงที่คาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมต่อเนื่องประมาณ 45 วัน โดยมีสัตวแพทย์ ประจำอยู่ที่สวนสัตว์ตลอด ขณะเดียวกันมีการเฝ้าระวังเรื่องของระดับน้ำในสวนสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ามีปริมาณน้ำสูงขึ้น พร้อมอพยพสัตว์โดยทันที
ด้าน นางนวลศรี เครือประสาร หัวหน้าชุมชนเบญจะมะ กล่าวว่า มาอยู่ที่ศูนย์พักพิงโรงเรียนบ้านหนองแก 4ชุมชนคือทัพไท,ชุมชนเบญจะมะ,ชุมชนหลังศาลปกครองและ ชุมชนพระปทุม มาอยู่ที่ศูนย์พักพิง 70 คน เวลานี้ ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ชาวบ้านก็ ถามหา ส.ส.ในพื้นที่ ก็ไม่เห็น ส.ส.มาช่วย ก็อยากให้มาช่วยเหลืออยู่เพราะเวลาเดือดร้อน กกต.ยังจะมาตั้งกฏเหล็ก แบบนี้อีก ซึ่งไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน ไม่น่าจะมีกฎแบบนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านต้องการอยากจะให้ ส.ส.ลงมาช่วยเหลือดูแลชาวบ้าน ไม่อยากให้ทิ้งภาระให้กับท้องถิ่นมันก็ไม่ไหว ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าเป็นกฎอะไรแต่เวลาเดือดร้อนมาทำไมไม่เห็นหน้า ชาวบ้านก็จะมีความคิดแบบนี้ สมัยหน้าอย่ามา เวลาอยากได้คะแนนถึงลงมาหาเสียงก็จะประมาณนี้ชาวบ้านจะโอดครวญแบบนี้ แต่ก่อนมีน้ำท่วม ส.ส.ก็จะลงมาดูแลบ่อยพอหลังที่มีกฎเหล็ก ออกมา ส.ส.ก็ไม่มาเพราะว่าติดกฎ อย่างน้อยๆไม่มีของมาแจกมาเห็นหน้าก็ยังดี เพราะว่าชาวบ้านมีความผูกพันรู้จักกับ ส.ส.ในพื้นที่
“ก็อยากจะฝากความทุกข์ความยาก ให้ส.ส.ได้รับรู้อยากให้ สส.มารับรู้ความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม ว่ามีปัญหาอะไรไหม เสียหายอะไรบ้าง จะได้มีข้อมูลเวลาซ่อมแซม เวลาเยียวยาจะได้รู้จากปากชาวบ้าน ได้ข้อมูลดิบๆจากชาวบ้าน เพื่อเป็นกระบอกเสียงส่งไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐบางครั้งก็ไม่ได้เอาข้อมูลไปทั้งหมดที่ผ่านมาพี่น้องเสียหายชาวบ้านตีราคากันเอง 5,000 บาทแต่ภาครัฐให้ 1,500 บาทถามว่า 1,500 บาทจะได้อะไรบ้างประตูบานเดียวก็ไม่พอถ้าส.ส.ลงมาทางชาวบ้านก็จะฝากข้อมูลให้ได้รับรู้จะได้ไปอธิบายต่อให้มีผู้มีอำนาจก็จะได้ฝากคำพูดไป แต่ตอนนี้รอแต่ปภ.จังหวัดลงมาและช่างทางเทศบาลมาคำนวณชาวบ้านก็จะรับชะตากรรมไป”