รีเซต

โควิด ปิดป่า สัตว์แฮปปี้ พะยูน 30 ตัว ลอยคอ นกเงือก-ช้าง-ค่างแว่น พร้อมใจโชว์ตัว สบายใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

โควิด ปิดป่า สัตว์แฮปปี้ พะยูน 30 ตัว ลอยคอ  นกเงือก-ช้าง-ค่างแว่น พร้อมใจโชว์ตัว สบายใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
มติชน
24 เมษายน 2563 ( 13:16 )
335
2

โควิด ปิดป่า สัตว์แฮปปี้ พะยูน 30 ตัว ลอยคอ  นกเงือก-ช้าง-ค่างแว่น พร้อมใจโชว์ตัว สบายใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ปิดป่า ปิดอุทยานฯหมู่สัตว์เริงร่าไร้กังวล ตะลึงพะยูน 30 ตัวรวมตัวลอยคอสบายใจ สัตวแพทย์ชี้ เป็นลานเลือกคู่เปิดโอกาสเกิดพันธุ์ดีแข็งแรงเพิ่ม ด้านสัตว์บก   ค่างแว่นถิ่นใต้ลงจากเขาพร้อมกัน 8 ฝูง จนท.อุทยานฯเกาะอ่างทองตะลึง ค่างลูกแฝดหายาก ชาวโซเชียลแห่แชร์ความน่ารัก

 

สัตว์ป่ามีความสุข วันที่ 24 เมษายน นายสัตวแพทย์(นส.พ.)ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก เป็นภาพพะยูน ประมาณ 30 ตัว ว่ายน้ำมารวมตัวกันบริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง โดยระบุว่า “พะยูนยิ้ม ทุกอย่างที่เราเป็นได้ คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้” เมื่อไม่มีปัจจัยรบกวน รวมกันเราอยู่ การแยกหมู่แล้วพัดหลงแบบอดีตก็เกิดขึ้นยาก ไม่ต้องแยกกันเอาตัวรอด ผลทางอ้อมจากโควิด-19และการวางแนวทุ่น ดูแล้วมีความสุขมากครับ”

 

นส.พ.ภัทรพล ให้สัมภาษณ์ เพิ่มว่า ปกติการเห็นพะยูนในทะเล ไม่ใช่เรื่องยากมาก แต่การเห็นพะยูนจำนวนมากเป็นฝูงใหญ่ๆ 30 กว่าตัวเช่นนี้ ไม่มีใครเคยเห็นมานานมากแล้ว ย้ำว่านานมากๆแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ พะยูนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับสิ่งแวดล้อมรอบๆข้าง โดยเฉพาะเสียงรบกวนจากเรือ โอกาสที่จะเจอกับพะยูนที่ว่ายน้ำในธรรมชาติไม่ได้ยากมาก แต่อาจจะเห็นคราวละ ไม่เกิน 4-5 ตัว และไม่ได้เห็นชัดมาก เพราะนิสัยขี้กลัว หวาดระแวง การว่ายน้ำก็จะว่ายแบบหลบๆไปอยู่ในที่น้ำขุ่นๆ เพื่อหลบซ่อนบังตัวเอง

 

“แต่การที่จะเห็นพะยูนมารวมตัวกันจำนวนมากเท่านี้นั้นถือว่ายากมาก ที่สำคัญเห็นชัดๆในน้ำใสๆ ว่ายน้ำแบบสบายใจ บางตัวแทบไม่ว่ายด้วย แต่เป็นการลอยตัวในน้ำแบบไม่กังวลอะไร แบบมีความสุข ซึ่งการที่พะยูนจำนวนมากว่ายน้ำมารวมตัวกันมากขนาดนี้จะส่งผลดีก็คือ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการคัดเลือกพันธุ์ที่มีความหลากหลาย ผลก็คือ เราจะได้พะยูนรุ่นต่อไปที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พูดอีกแง่หนึ่งคือ ตรงนี้เป็นเวทีดูตัวของพะยูนให้เขาเลือกคู่กันนั่นเอง มองเห็นแล้วก็มีความสุขมาก”น.สพ.ภัทรพล กล่าว

 

นส.พ.ภัทรพล กล่าวว่า พฤติกรรมที่พะยูน ในพื้นที่ เกาะลิบงมีความผ่อนคลายจากการถูกรบกวนของเสียงเรือที่แล่นไปมาในทะเล และจากนักท่องเที่ยวนั้น เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ชาวบ้าน และกลุ่มอนุรักษ์ ไปจนถึงภาคส่วนต่างๆช่วยกันทำทุ่น เพื่อกั้นไม่ให้เรือแล่นเข้ามาในเขตที่มีพะยูนอาศัยอยู่แล้ว แต่หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 มีการปิดการท่องเที่ยวทั้งอุทยานแห่งชาติทางบกและทางทะเล ไม่มีเรือท่องเที่ยวเข้าไปรบกวนพะยูน รวมไปถึงหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนฟื้นตัวเร็วมาก ขยะในทะเลก็ลดน้อยลง พะยูนเกิดความรู้สึกว่ามีความปลอดภัยมากขึ้น ว่ายย้ำอย่างปราศจากความกังวลใดๆอย่างภาพที่ได้เห็นนี้

 

ด้านนายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เวลานี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติต่างๆทั่วประเทศต่างรายงานเรื่องพฤติกรรมสัตว์ป่าภายในพื้นที่ของตัวเอง มีข้อสรุปว่า นับแต่มีการปิดอุทยานฯไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปรากฏว่า สัตว์ป่าออกมาในโซนที่นักท่องเที่ยวเคยเข้าไปอยู่มากขึ้น

 

“ยกตัวอย่างซึ่งค่อนข้างสร้างความตื่นเต้นยินดี กับเจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่นั้นๆอย่างมากเช่น ฝูงค่างแว่นถิ่นใต้ ที่เดิมอาศัยอยู่บนเขาในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ประมาณ 7-8 ฝูง หรือ ราว 200 กว่าตัว ก่อนหน้าที่ยังไม่ปิดเกาะ ก็มีค่างแว่นถิ่นใต้ลงมาจากภูเขา หากินอยู่แถวที่ทำการอุทยานฯบ้างประปราย แต่ภายหลังจากปิดเกาะ ไม่มีนักท่องเที่ยว บรรยากาศที่ทำการอุทยานค่อนข้างเงียบ ปรากฏว่า มีค่างแว่นถิ่นใต้ลงจากภูเขาเข้ามาบริเวณที่ทำการอุทยานจำนวนมาก ประเมินจากสายตา เข้าใจว่าจะจะลงมาครบทุกฝูง รวมทั้งแม่ค่างลูกอ่อน ที่มีลูกเป็นลูกแฝด ซึ่งหายากมาก โดยเวลานี้ ภาพของค่างลูกแฝดดังกล่าว ถูกแชร์ไปในโลกโลกเซียลจำนวนมาก เพราะแปลกตา น่ารัก และหาดูได้ยาก นอกจากนี้ยังมีนกแก้ก ซึ่งเป็นนกเงือกที่มีขนาดเล็กที่สุดอีกประมาณ 20 ตัว ก็บินออกมาจากป่า บินไปบินมา ให้เจ้าหน้าที่เห็นทุกวัน จากเดิมเห็นครั้งละ ตัว สองตัวเท่านั้น”ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าว

 

นายดำรัส กล่าวว่า ส่วนพื้นที่อื่นๆหัวหน้าอุทยานฯแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล แจ้งเข้ามาว่า พบสัตว์ป่าออกมาในโซนที่นักท่องเที่ยวอยู่แต่เดิมมากขึ้น เช่น กระทิง ช้าง ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะช้าง แม้ตอนนี้จะเป็นหน้าแล้ง แต่พบว่า มีจำนวนมากออกมาเล่นน้ำข้างทางถนนทางขึ้นลงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างปราศจากความกังวล ว่าจะมีสิ่งใดเข้าไปรบกวน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ พะยูน โดย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง

ภาพ ค่างแว่นถิ่นใต้ – นกแก๊ก โดย โดย ธนากร ศรีจันทร์โฉม  อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง