สธ.ไขข้อสังสัย ฉีดวัคซีนโควิด แล้วเป็นอัมพฤกษ์จริงหรือไม่ ?
ข่าววันนี้ (21 เม.ย.) จากกรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ปรากฏหลังฉีดวัคซีนโควิดแล้วเกิดอัมพฤกษ์ขึ้น 6 รายที่จังหวัดระยอง และยังมีอีกหนึ่งรายที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนเชิงลึก ก่อนสรุปและแจ้งคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์
พญ.อภิสมัย ยังระบุว่า ทราบว่าเช้าวันนี้มีรายงานแจ้งอาการที่เกิดขึ้นไม่ใช่อัมพฤกษ์ แต่เป็นอาการคล้ายอัมพฤกษ์ เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชา ประสาทสัมผัสไม่รู้สึก และขณะนี้มีรายงานว่าอาการดีขึ้น จึงขอให้ติดตามการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง
"เรื่องข่าวที่ออกไป ขอให้ทุกคนตั้งสติในการติดตามข่าว แม้ว่าหลายข้อมูลมาจากนักวิชาการ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในการติดตามข่าวนั้น อยากให้ฟังรอบด้าน และขอให้ประขาชนติดตามการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงบ่ายวันนี้อีกครั้ง" พญ.อภิสมัย ระบุ ก่อนจบการแถลงข่าว ศบค.ประจำวัน
ล่าสุด สำนักงานสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดแถลงข่าวในเวลา 15.00 น. โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีมีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมีอาการไม่พึงประสงค์เป็นอัมพฤกษ์ 6 รายว่า หลังจากการสอบสวนทั้ง 6 ราย ในจำนวนนี้ 5 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1 รายเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนดังกล่าว
โดยรายแรกเกิดวันที่ 5 เมษายน รายที่ 2 วันที่ 6 เมษายน รายที่ 3 และรายที่ 4 วันที่ 8 เมษายน รายที่ 5 และรายที่ 6 วันที่ 9 เมษายน โดยทั้งหมดมีทั้งอาการคล้ายโรคระบบทางเดินสมอง ชาครึ่งซีก บางรายมีอาการอ่อนแรงแขนขา โดยมี 1 รายมีอาการเฉพาะชาอย่างเดียว ไม่อ่อนแรง
ทั้งนี้ จากการสอบสวนประวัติสุขภาพของผู้ฉีดทั้งหมดพบว่า มี 1 ราย เป็นมะเร็ง 1 ราย ไขมันในเลือดสูง 2 ราย น้ำหนักเกินเกณฑ์ ซึ่งในจำนวนนี้ 4 คน มีการทานยาคุมกำเนิดด้วย
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีนโควิด 19
ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่า กลุ่มผู้รับวัคซีนกลุ่มนี้มีอาการทางระบบประสาท แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นอาการชั่วคราว หายภายใน 1 - 3 วัน โดยบางรายมีอาการคล้ายโรคสโตรค หรืออาการหลอดเลือดสมอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร โดยได้ทำการเอ็กซเรย์อย่างละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติเพิ่มเติม
เบื้องต้น จากการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดภายใน 5-10 นาที โดยกลุ่มอาการเหล่านี้จำเป็นจะต้องเฝ้าระวังติดตามต่อไป
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ยังได้ตรวจสอบวัคซีนโควิด-19 ที่นำมาใช้ในวันดังกล่าว เบื้องต้นไม่พบความผิดปกติอะไร ซึ่งวัคซีนล็อตนี้มีการกระจายใช้ทั่วประเทศประมาณ 500,000 โดส มีผู้ได้รับมากกว่า 300,000 แสนคน และยังไม่ได้รับรายงานอาการไม่ถึงประสงค์รุนแรง คณะกรรมการฯ จึงลงความเห็นว่า สามารถใช้วัคซีนดังกล่าวต่อไปได้ เนื่องจากเห็นว่าประโยชน์ของวัคซีนมีผลมากกว่า อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือ การเฝ้าระวังติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์ในลักษณะแบบนี้ยังไม่เคยมีรายงานในต่างประเทศมาก่อน
ทั้งนี้ แผนการฉีดวัคซีนโควิดของไทยยังดำเนินการฉีดปกติ ขอให้ประชาชนมั่นใจในการเข้ารับ ซึ่งการเกิดอาการไม่พึ่งประสงค์หลังรับวัคซีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก แต่การฉีดวัคซีนน้อยก็ไม่สามารถทำให้ป้องกันโรคนี้ได้ จึงอยากให้ทุกคนคลายความกังวล และให้เข้ารับวัคซีนเพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ย้ำประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าผลข้างเคียง
ด้าน พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า กลุ่มอาการที่พบที่ จ.ระยอง หลังฉีดวัคซีน คือมีอาการชา อ่อนแรง พูดไม่ชัด ปากเบี้ยวในบางราย จากการเอ็กซเรย์ ไม่พบความผิดปกติของสมอง ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีหลังฉีดวัคซีน แต่สามารถหายเป็นปกติได้ทั้งหมด โดยเคสเหล่านี้ หลังจากหายเป็นปกติ เราจะยังคงติดตามสืบสวนอาการต่อไป
ขณะที่ นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว มีอาการข้างเคียงเข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมอง ให้รีบไปโรงพยาบาล และขอให้แพทย์ รายงานเข้ามาที่กองระบาดหรือที่ที่กำหนด เพื่อการศึกษาต่อไป