รีเซต

มนัญญา ถกสมาชิกสหกรณ์โคนม แก้น้ำนมดิบล้น ให้ อ.ส.ค. รับซื้อ 40 ตัน ผลิตนมยูเอชที

มนัญญา ถกสมาชิกสหกรณ์โคนม แก้น้ำนมดิบล้น ให้ อ.ส.ค. รับซื้อ 40 ตัน ผลิตนมยูเอชที
มติชน
8 มกราคม 2564 ( 21:28 )
99

วันที่ 8 มกราคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของโรงงานผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ยูเอชที และเป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์, นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค.ภาคใต้, นายอนุชิต สุกรินทร์ หัวหน้ากองบริหารงานทั่วไปรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานอ.ส.ค.ภาคใต้, นายอาทิตย์ เพ็ชรรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนสหกรณ์โคนมภาคใต้และภาคตะวันตก ว่าเป็นการร่วมกันหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการรับซื้อน้ำนมดิบของสมาชิกสหกรณ์โคนมภาคใต้ และภาคตะวันตก สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID -​19 ทำให้เกษตรกรโคนมได้รับผลกระทบ น้ำนมดิบล้นกว่าวันละ 40 ตัน โดยเบื้องต้น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)​ จะรับซื้อน้ำนมดิบ 40 ตัน นำไปผลิตเป็นนมยูเอชที และบริหารจัดการต่อไป

 

นางสาวมนัญญา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายขยายการรับน้ำนมดิบของเกษตรกรโคนมภาคใต้มากขึ้น โดยจะมีการสร้างโรงงานใหม่ สามารถรองรับน้ำนมดิบได้มากถึงวันละ 200 ตัน ความเร็วจำนวนในการผลิตมากขึ้น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้นมยูเอชที และพาสเจอร์ไรส์ แต่ตอนนี้พอมาเป็นยูเอชที ทั้งหมด ทำให้นมพาสเจอร์ไรส์ไม่สามารถผลิตได้

 

แต่ถามว่า อ.ส.ค. จะรับผลิตยูเอชที ทั้งหมดเลยติดปัญหา เนื่องจากว่า การสั่งนมกล่องของ อ.ส.ค.มีข้อจำกัด ไม่สามารถที่จะตุนสต๊อกได้มาก เนื่องจากว่ามีภาระผูกพันกับบริษัทกล่องนมต่างๆ ขณะนี้ได้มีการขยายระบบการจ่ายเงินของบริษัทกล่องนมยาวออกไป ข้อจำกัดที่จะรับนมของเกษตรกรมีข้อจำกัด จึงต้องร่วมกันหารือ ต้องประสานกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีต่อทุกฝ่าย

 

“เราเจอกันทางสายกลางแบบไหน ทางผู้ประกอบการมีแนวความคิดหลายอย่าง ทาง อ.ส.ค.ก็มีแนวความคิดหลายอย่าง แต่จบกันตรงกันที่ 40 ตัน ของเกษตรกร นอกเหนือจากที่ อ.ส.ค.ไม่สามารถที่จะรับได้ จาก 40 ตัน ปกติเป็นนมโรงเรียนของพาสเจอร์ไรส์ที่ส่งอยู่ ขณะที่ โรงเรียนปิด ก็ทำให้เกิดปัญหา เกษตรกรไม่มีเครื่องผลิตนมยูเอชที เกษตรกรต้องทำนมพาสเจอร์ไรส์ จึงได้มีการเสนอทางจังหวัดว่าจะทำอย่างไร โรงเรียนจะทำอย่างไร จะรับนมพาสเจอร์ไรส์ได้เท่าไหร่ เพื่อจะได้แบ่งเบาเกษตรกร เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย” นางสาวมนัญญา กล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการตกลงว่าทาง อ.ส.ค.ภาคใต้ รับซื้อน้ำนมดิบได้ 20 ตัน จาก 40 ตัน และส่งไปยัง อ.ส.ค.มวกเหล็ก อีก 20 ตัน อย่างไรก็ดี ขอให้ช่วยกันรณรงค์ในการดื่มนมให้มากขึ้น อีกทั้งในเรื่องของถุงยังชีพควรที่จะมีนมอยู่ในถุงยังชีพทุกถุงเพื่อส่งมอบให้กับผู้ที่ประสบอุทกภัยด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง