เขื่อนวังร่มเกล้าเร่งระบายน้ำลดเสี่ยง ชาวแพในแม่น้ำสะแกกรังเตรียมลากเรือนแพกระชังปลาเข้าฝั่ง ป้องเสียหาย
วันที่ 31 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจการระบายน้ำของเขื่อนวังร่มเกล้า และระดับปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง ภายหลังจากที่เขื่อนวังร่มเกล้า เขตพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัด อุทัยธานี เพิ่มการระบายน้ำลงสู่ลำคลองสาขาต่างๆอย่างต่อเนื่อง หลังพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี รับมวลน้ำจากทางภาคเหนือเข้ามาจำนวนมาก ประกอบกับช่วงนี้ในพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักสะสมเกือบทุกวัน จึงทำให้เขื่อนวังร่มเกล้า ต้องทำการระบายน้ำกักเก็บออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำหลาก
โดยล่าสุดโครงการชลประทานอุทัยธานี รายงานสถานการณ์น้ำท่า เมื่อเวลา 06.00 น.วันนี้ว่า ที่ประตูระบายน้ำเขื่อนวังร่มเกล้า มีการระบายน้ำเพิ่มเป็น 112.59 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที เพิ่มจากเมื่อวานนี้ (30 ส.ค.) มีการระบายน้ำอยู่ที่ 90.86 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที ปัจจุบัน มีระดับเหนือน้ำอยู่ที่ +29.87 ม.รทก.(ปริมาณน้ำ 3.31 ล้านลูกบาศก์เมตร) หรือ (71.33%) มีระดับท้ายน้ำ + 24.45 ม.รทก.
ส่งผลให้แม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนวังร่มเกล้า บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดอุทัยธานี เช้านี้ มีระดับน้ำอยู่ที่ +16.05 ม.รทก.(ต่ำกว่าตลิ่ง 2.45 ม.) โดยพบว่ามวลน้ำเริ่มมีลักษณะไหลเชี่ยวแรงขึ้นและเริ่มขุ่นเปลี่ยนสี ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการกระทบด้านอาชีพ และความเป็นอยู่ในกลุ่มชาวแพและผู้เลี้ยงปลาในแม่น้ำสะแกกรังได้
จากการสอบถาม นางศรีวภา วิบูลรัตน์ วัย 69 ปี หนึ่งในชาวแพสะแกกรังและผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำสายนี้ เล่าว่า น้ำในแม่น้ำสะแกกรังพึ่งเริ่มมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อประมาณ 2-3 วันที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ประกอบกับน้ำเริ่มไหลแรงและเปลี่ยนสี จึงทำให้ตนเองและชาวแพคนอื่นๆ ต้องเตรียมความพร้อมชักลากเรือนแพ และกระชังปลาเข้าใกล้ตลิ่งเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกแรงน้ำพัดเรือนแพและกระชังปลาพังเสียหาย ประกอบกับมีความกังวลในเรื่องของวัชพืชอย่างผักตบชวา ผักบุ้ง และเศษหญ้า ที่ลอยตามน้ำมา หากปีนี้มีวัชพืช ดังกล่าวลอยตามน้ำมามากเหมือนหลายปีก่อน ก็จะสร้างความเสียหายให้กับเรือนแพและกระชังปลาได้ด้วยเช่นกัน
นางศรีวภา และชาวแพสะแกกรังที่อาศัยอยู่ใกล้ ยังเล่าต่ออีกว่า สิ่งที่ชาวแพกังวลในช่วงฤดูน้ำหลาก นั้นคือ ลูกบวบเรือนแพที่อาศัยและกระชังปลาจะได้รับความเสียหายจากแรงกระแสน้ำ เนื่องจากการซ่อมแซมลูกบวบแพแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท ซึ่งอยู่ที่ปริมาณความเสียหายและขนาดของเรือนแพนั้นๆ ส่วนปลากระชังที่เลี้ยงกันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปลาแรด ซึ่งเป็นปลาขึ้นชื่อของจังหวัดอุทัยธานี ที่มีอายุในการเลี้ยงยาวนานถึง 2 ปี ปลาถึงจะโตเต็มไวและสามารถจับขายได้
จึงทำให้การลงทุนเลี้ยงปลาแรดในแต่ละครั้งนั้น มีต้นทุนที่สูง ตั้งแต่บ่อละ 50,000 สูงสุดถึง 100,000 บาท ซึ่งหากได้รับความเสียหาย ขึ้น แม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยา มาบ้างแต่ก็ไม่คุ้มค่ากับที่เสียไปอย่างแน่นอน (เพราะการเยียวยา จะได้แค่การเยียวยาเรือนแพอาศัย) จึงทำให้ตอนนี้ผู้เลี้ยงปลากระชังเริ่มหยุดเลี้ยงปลากันเพิ่มขึ้น หรือบางรายก็ลดปริมาณ ลงเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงตนเองที่ตอนนี้ก็ลดปริมาณ การเลี้ยงลงด้วยเช่นกัน