รีเซต

ลาวเตรียมงานสร้าง 'โรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่น้ำโขง' คืบหน้า 80% จ่อส่งขายไทย-เวียดนาม

ลาวเตรียมงานสร้าง 'โรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่น้ำโขง' คืบหน้า 80% จ่อส่งขายไทย-เวียดนาม
Xinhua
18 มีนาคม 2564 ( 15:12 )
66

เวียงจันทน์, 18 มี.ค. (ซินหัว) -- วันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์ส ของลาว รายงานว่างานเตรียมการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของลาว เสร็จสิ้นแล้วร้อยละ 80 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคม

 

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่น้ำโขง ขนาด 1,460 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดหลวงพระบางทางตอนเหนือของลาวราว 25 กิโลเมตร ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด (Luang Prabang Power) ของรัฐบาลลาว และบริษัทปิโตรเวียดนาม พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (PetroVietnam Power Corporation) ของเวียดนาม จะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้ไทยและเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2027

 

รายงานระบุว่างานก่อสร้างโรงไฟฟ้าข้างต้นจะเริ่มต้นหลังจากรัฐบาลอนุมัติการก่อสร้างเขื่อน

สำหรับงานเตรียมการทั้งหมดแบ่งเป็นการก่อสร้างถนนทางเข้าระยะทาง 11 กิโลเมตร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 98 สะพานข้ามแม่น้ำโขงยาว 500 เมตร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 41 ส่วนการก่อสร้างท่าเรือชั่วคราว 3 แห่ง สายส่งไฟฟ้าขนาด 115กิโลโวลต์ และ 22 กิโลโวลต์ และสถานีไฟฟ้าขนาดเล็ก เสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 64

 

ขณะเดียวกันมีการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้สละที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ให้กับโครงการนี้แล้วราวร้อยละ 69

ทั้งนี้ ความคืบหน้าของงานเตรียมโครงการทั้งหมดถูกรายงานต่อไซสมพอน พมวิหาน ประธานองค์การแนวลาวพัฒนาชาติ (LFND) ซึ่งเดินทางเยี่ยมชมพื้นที่โครงการเมื่อสัปดาห์ก่อน

 

ไซสมพอนแนะนำเจ้าหน้าที่โครงการปฏิบัติตามตารางเวลาเพื่อให้งานเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของคนงานและช่างเทคนิค โดยเมื่อปีก่อน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดการประชุมให้หน่วยงานลาวร่วมเจรจากับชาติอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขง ก่อนจะดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางแห่งนี้

 

การประชุมดังกล่าวหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของเขื่อน และพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Basin Development Strategy) ปี 2021-2030 ซึ่งเป็นทิศทางยุทธศาสตร์ 10 ปี สำหรับการวางแผนพัฒนาภายในภูมิภาค

 

มีการยกข้อเสนอแนะหลายประการ ประกอบด้วยการสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเพิ่มขึ้น การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง อันได้แก่ ลาว เวียดนาม ไทย และกัมพูชา ตลอดจนการแบ่งปันข้อมูลอย่างเปิดเผยและโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง