รีเซต

เดินหน้าปฎิบัติการฝนหลวง หลังน้ำต้นทุน 2 เขื่อนใหญ่ภาคเหนือต่ำกว่าเกณฑ์

เดินหน้าปฎิบัติการฝนหลวง หลังน้ำต้นทุน 2 เขื่อนใหญ่ภาคเหนือต่ำกว่าเกณฑ์
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2564 ( 17:03 )
81

ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่ 




นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวงและการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ  โดยช่วงเช้าได้เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ โดยมีนายรังสรรค์  บุศย์เมือง  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจ.เชียงใหม่และนายอัธยา อรรณพเพ็ชร  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธาราและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ 



ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่ 

 




นายสำเริง  แสงภู่วงค์  อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือจะมีฝนตกอย่างหนักผนวกกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้ออกปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณเพียงพอต่อการช่วยเหลือพื้นที่ภาคเกษตร  แต่กรมฝนหลวงฯยังคงต้องเดินหน้าออกปฏิบัติการทำฝนหลวงไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้   



ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่ 

 



โดยเน้นชี้เป้าเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ หรือเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับ  2 เขื่อนใหญ่หลักๆคือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่และเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำต้นทุนต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565 โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนแม่กวงฯ ณ วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่าง 68 ล้าน ลบ.ม.หรือ25.88% ของความจุอ่างฯน้ำใช้การได้ 54 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำต้นทุนยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำอยู่มาก



ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่ 

 


สำหรับผลดำเนินงานปฎิบัติการทำฝนหลวงของ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำปี  2564 ที่ผ่านมานั้น รับผิดชอบดูแลพื้นที่การเกษตร 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่   เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา และตากและเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่  1. พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล 2.เขื่อนแม่งัดสมบรูณ์ชล 3.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา4. เขื่อนกิ่วลม 5.เขื่อนกิ่วคอหมาและ6. เขื่อนแม่มอก     


โดยผลปฏิบัติการระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 24 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา(หน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่และตาก)  หน่วยฯเชียงใหม่ทำการบิน 142 วันส่วนหน่วยฯตากทำการบิน 110 วันรวม 706 เที่ยวบินช่วยเหลือครอบคลุมในพื้นที่เชียงใหม่ ตาก ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงรายและแม่ฮ่องสอน     


ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยแล้ง  พบว่าบริเวณที่มีฝนตก 10 จังหวัด 76 อำเภอ) ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา  ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ กำแพงเพชร สุโขทัย 


ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่ 

 


ข้อมูลจากการบินสำรวจพื้นที่การเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่ทางการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ   อ.แม่ริม  อ.แม่แตง อ.ไชยปราการ  อ.พร้าวและอ.เชียงดาว ข้าวระยะเริ่มแก่และมีบางส่วนเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว  ส่วนพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด มีทั้งเริ่มออกดอกและเริ่มแก่ และมีหลายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งและลำไย ใบเขียวสดและเริ่มมีการตัดแต่งกิ่งซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ      


ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ   ประกอบด้วย   เขื่อนภูมิพล  เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล   เขื่อนแม่กวงอุดมธารา   เขื่อนกิ่วลม  เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนแม่มอก   ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนรวม 301.55 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ปัจจุบันเขื่อนทั้ง 6 แห่งมีปริมาตรน้ำในเขื่อนรวม  8,238ล้าน ลบ.ม.


ด้านนายอัธยา  อรรณพเพ็ชร  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา  กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเขื่อน มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือเขื่อน 569 ตารางกิโลเมตร ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,250 มม./ปี ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 250 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี สามารถจุน้ำได้ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการเกษตร และป้องกันน้ำท่วมบริเวณสองฝั่งของลำน้ำแม่กวงในเขตอำเภอดอยสะเก็ด สันกำแพง สารภี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอป่าซาง อำเภอเมืองจังหวัดลำพูน     


ทั้งนี้ ด้วยลักษณะลุ่มน้ำของเขื่อนที่มีขนาดเล็ก แต่ปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่รับประโยชน์จากเขื่อนมีปริมาณมาก ทำให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนมีค่อนข้างน้อยซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน สำหรับเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนสำหรับกิจกรรมทางการเกษตรมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง