คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ทำความรู้จัก 4วัคซีนโควิดหัวแถวของโลก
ทั่วโลกกำลังรอคอยวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 อยู่อย่างกระวนกระวาย บรรดาทีมผู้เชี่ยวชาญก็ทุ่มกำลัง เทความคิดลงไปกับการพัฒนาวัคซีนขึ้นมากว่าร้อยสูตร ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อมีการเผยแพร่ แผนที่พันธุกรรมในอาร์เอ็นเอของ “ซาร์ส-โคฟ-2” ออกสู่แวดวงวิชาการด้านไวรัสวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาทั่วโลก
อาร์เอ็นเอ ซีเควนซ์ ที่เผยแพร่ออกมาดังกล่าว ทำให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญตระหนักว่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ โลกจำเป็นต้องมีวัคซีนชนิดไหน ส่วนใดของไวรัสที่จำเป็นต้องใส่ไว้ในวัคซีน จึงสามารถก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อขึ้นมาได้ในที่สุด
นับจากวันนั้นเรื่อยมา โลกพบว่ากว่า 20 วัคซีน ได้เข้าสู่ หรือกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองเชิงคลินิก ซึ่งหมายความว่า ได้ผ่านการทดลองขั้นต้นที่จำเป็นแล้วจนได้รับอนุญาตให้ทดลองในคนได้
เมื่อ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา วัคซีน 2 ตัว ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดลองในตัวอย่างทดลองที่เป็นมนุษย์ ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ออกมา แสดงให้เห็นว่าสูตรวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมานั้น สามารถก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราขึ้นได้ ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยใหญ่โตที่ต้องกังวลขึ้นมา
นั่นถือเป็นก้าวรุดหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่วัคซีนทั้งคู่ยังจำเป็นต้องผ่านการทดลองขั้นสุดท้าย ที่กินเวลานานกว่า เกี่ยวข้องกับจำนวนคนในการทดลองมากกว่า และยุ่งยากลำบากกว่าที่ผ่านมา
การทดลองในตัวคนในระยะที่ 3 ที่มีวัคซีนเพียงไม่กี่ตัวดำเนินการอยู่ในเวลานี้ คือปัจจัยชี้ขาดสุดท้ายว่าสูตรวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายจ่ายแจกให้กับผู้คนทั่วทั้งโลกต่อไปหรือไม่
วัคซีนที่รุดหน้าไปได้ไกลที่สุดในเวลานี้ มีอยู่ 4 ตัว จาก 4 บริษัทผู้พัฒนา และใช้เทคโนโลยีพื้นฐานในการสร้างวัคซีนแตกต่างกัน 3 แบบ
เป็นวัคซีนของอังกฤษ 1 ของสหรัฐอเมริกา 1 และจากประเทศจีนอีก 2 ตัว ทั้งหมดมีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันออกไปให้ทำความรู้จัก ดังต่อไปนี้
ออกซ์ฟอร์ด/แอสทราเซเนกา วัคซีน
พัฒนาขึ้นมาจากห้องปฏิบัติการทดลองของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทเภสัชกรรมในอังกฤษอย่าง แอสทราเซเนกา เป็นวัคซีนที่สามารถทำความตกลงสั่งซื้อล่วงหน้าได้แล้วมากที่สุด รัฐบาลอังกฤษตกลงซื้อล่วงหน้า 100 ล้านโดส สหรัฐอเมริกาอีก 300 ล้านโดส ทางการญี่ปุ่นก็ตกลงจัดซื้อแล้ว ขณะที่อีกหลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด
วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด/แอสทราเซเนกา ยังถือว่า เป็นวัคซีนที่ก้าวรุดหน้าได้มากที่สุดในเชิงการทดสอบอีกด้วย
วัคซีนตัวนี้ในทางการแพทย์ถือว่าเป็น “ไวรัล เวคเตอร์ วัคซีน” เป็นเทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีนแบบหนึ่งซึ่งอาศัยโครงสร้างเดิมของไวรัสชนิดหนึ่งชนิดใด มาทำให้อ่อนแอลงแล้วตัดแต่งพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ลงไป
ทีมพัฒนาของออกซ์ฟอร์ด ใช้ อดีโนไวรัส ที่ก่อโรค (คล้าย) หวัดในลิงชิมแปนซีเป็นโครงวัคซีน จากนั้นนำเอาพันธุกรรมในอาร์เอ็นเอของโคโรนาไวรัส ส่วนที่สร้าง “หนามโปรตีน” ไปตัดต่อใส่ไว้
ตุ่มหรือหนามโปรตีนดังกล่าวนี้ คิดกันว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เซลล์ของไวรัสโควิดสามารถยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์และยึดครองได้ในที่สุด
จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการ “ให้ข้อมูล” กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำความรู้จักเชื้อที่มีตุ่มหรือหนาม แล้วสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน หากภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนี้คงอยู่อีกระยะหนึ่ง เมื่อเจอเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีตุ่มโปรตีน ก็ตอบโต้ และป้องกันการติดเชื้อได้ในที่สุด
ออกซ์ฟอร์ด ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดลองในคนในระยะที่ 1 และ 2 ในวารสารวิชาการด้านการแพทย์ชื่อดังอย่าง เดอะ แลนเซท เพื่อให้มีการศึกษาทบทวนเมื่อ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังทำการทดลองระยะที่ 3 ในบราซิลและแอฟริกาใต้
แดนนี อัลท์แมน ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา จาก อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งศึกษาผลการทดลองที่เผยแพร่ออกมา ชี้ว่าจุดเด่นสำคัญของวัคซีนของทีมออกซ์ฟอร์ดนี้ก็คือ มันสามารถกระตุ้นให้ทั้ง “ที เซลล์” และ “บี เซลล์” ในร่างกายตอบสนองขึ้นมา
“บี เซลล์” คือเซลล์ที่สร้างแอนติบอดีขึ้น ส่วน “ที เซลล์” เป็นชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือบี เซลล์อีกต่อหนึ่งในการเข้าไปยับยั้งด้วยการฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อ ซึ่งเท่ากับเป็นการยับยั้งการติดเชื้อนั่นเอง
วัคซีนที่ดีจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการทำงานของเซลล์ทั้งสองแบบ ซึ่งทำให้วัคซีนของออกซ์ฟอร์ดน่าประทับใจทีเดียว
แคนซิโน วัคซีน
ข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีนมีไม่มากนัก แต่เท่าที่เผยแพร่ออกมาก็ช่วยยืนยันได้ว่า วัคซีนที่พัฒนาโดย แคนซิโน ไบโอโลจิค บริษัทเภสัชกรรมของจีนก็รุดหน้าไปไม่น้อยกว่าวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดเลยทีเดียว
ในวันเดียวกับที่ทีมออกซฟอร์ดเผยแพร่การทดลองระยะ 1 และ 2 แคนซิโนก็เผยแพร่ผลการทดลองในคนระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินการที่อู่ฮั่น จุดเริ่มระบาดของโรค ออกมาผ่านทางแลนเซทเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นปลอดภัยและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองขึ้นมาอีกด้วย
แคนซิโนวัคซีน เริ่มพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพแห่งปักกิ่ง จัดเป็น “ไวรัล เวคเตอร์ วัคซีน” เช่นเดียวกัน เชื้อไวรัสที่ใช้เป็นโครงวัคซีนก็เป็น อดีโนไวรัส เช่นเดียวกัน
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดกับแคนซิโนวัคซีนก็คือ อดีโนไวรัส ที่ใช้เป็นโครงวัคซีนของแคนซิโนนั้น เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดทั่วไปในคน ไม่ใช่ อดีโนไวรัส ในชิมแปนซี แต่อย่างใด
บีตตี แคมป์แมนน์ ผู้อำนวยการศูนย์วัคซีนประจำสำนักสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอน ชี้ให้เห็นว่า การใช้ อดีโนไวรัส ที่ก่อหวัดทั่วไปในคนนั้น อาจเป็นข้อด้อยสำคัญของแคนซิโนวัคซีน
เหตุผลเป็นเพราะ อดีโนไวรัสที่ก่อโรคหวัดนั้นแพร่หลายอยู่ทั่วไปทั้งโลกอยู่แล้ว บางคนอาจมีแอนติบอดีป้องกันมันอยู่ในตัวอยู่ก่อนแล้วด้วย ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนองมากเท่าที่ควรต่อวัคซีนป้องกันโคโรนาที่มีอดีโนเป็นโครงวัคซีนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กองทัพจีนได้อนุญาตให้นำวัคซีนตัวนี้ไปใช้อย่างเป็นทางการแล้วเฉพาะกับทหารในกองทัพเท่านั้น
โมเดอร์นา วัคซีน
โมเดอร์นา บริษัทอเมริกัน เป็นหนึ่งในกลุ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังทำงานหนักอยู่กับการพัฒนา “อาร์เอ็นเอวัคซีน” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการพัฒนาวัคซีนใหม่เอี่ยมที่สุด กลุ่มผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่พัฒนาด้วยวิธีการเดียวกันนี้ก็คือ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน และบริษัท ไบโอเอ็นเทคจากเยอรมนี ซึ่งร่วมพัฒนากับยักษ์ใหญ่ในแวดวงเภสัชกรรมของโลกอย่าง ไฟเซอร์ นั่นเอง
อาร์เอ็นเอ วัคซีน อาศัยประโยชน์ที่ได้จากการจำแนกพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มาใช้ หลักการก็คือ สังเคราะห์พันธุกรรมเฉพาะในส่วนที่บอกให้เซลล์ (ของไวรัส) สร้างตุ่มหรือหนามของไวรัสขึ้นมาใหม่ สำหรับนำไปใช้กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายมนุษย์สร้าง ตุ่มหรือหนามโปรตีนขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้นมาอีกต่อหนึ่ง
โมเดอร์นา รายงานผลการทดลองในคนระยะที่ 2 ของตนออกมา เมื่อ 14 กรกฎาคม ในวารสารวิชาการ เดอะ นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน แสดงให้เห็นว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้และไม่มีปัญหาข้างเคียงที่น่าวิตกอีกด้วย โมเดอร์นากำลังทดลองในคนระยะที่ 3 มาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ข้อดีของการพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยีอาร์เอ็นเอ ก็คือ ไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบในปริมาณมาก เพราะในทางปฏิบัติจริงๆ ก็คือร่างกายของเราจะเป็นตัวสร้างวัคซีนขึ้นมาเอง ผลก็คือ อาร์เอ็นเอวัคซีนสามารถขยายการผลิตได้มากและราคาถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยสำคัญของ อาร์เอ็นเอวัคซีนก็คือ เทคโนโลยีนี้ค่อนข้างใหม่ทีเดียว ข้อเท็จจริงก็คือในโลกนี้ยังไม่เคยมีอาร์เอ็นเอวัคซีนใดๆ ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจ่ายแจกมาก่อนเลยนั่นเอง
ซิโนแวค วัคซีน
บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เป็นผู้พัฒนาวัคซีนที่ถูกตั้งชื่อว่า “โคโรนาแวค” จัดเป็นวัคซีนชนิด “อินแอคติเวเต็ด วัคซีน” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ดั้งเดิมในการพัฒนาวัคซีน โดยใช้อนุภาคของไวรัสซึ่งถูกทำให้ตายหรือไม่ก็ทำให้หมดฤทธิ์ เพื่อจะได้ไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ
แม้จะหมดฤทธิ์แล้ว แต่ระบบภูมิคุ้มกันยังคงจดจำคุณลักษณะของไวรัสไว้ได้ กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเกิดตอบสนองถ้าหากร่างกายเกิดได้รับเชื้อจริงๆ ขึ้นมาในภายหลัง
ถ้อยแถลงของบริษัทเกี่ยวกับผลการทดลองในคนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน ระบุว่า วัคซีนก่อให้เกิดแอนติบอดีชนิดที่เรียกว่า นิวทรัลไลซิง แอนติบอดี (neutralizing antibody) หรือบางทีเรียกกันว่า แอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ เพราะสามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าไปจับเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงใดๆ
วัคซีนของ ซิโนแวค อยู่ระหว่างการทดลองในคนระยะที่ 3 ที่ประเทศบราซิล
ข้อดีของวัคซีนตัวนี้คือเทคโนโลยีนี้ เคยผ่านการทดลองและได้รับการพิสูจน์มาแล้วต่อเนื่องหลายทศวรรษว่าได้ผลในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
ในขณะเดียวกัน การที่เป็นเทคโนโลยีเก่า ก็ทำให้มั่นใจได้ว่า เรามีโรงงานผลิตที่สามารถผลิตวัคซีนของซิโนแวคนี้ได้แน่นอน
ข้อเสียของซิโนแวควัคซีน หรือโคโรนาแวค นี้ก็คือ การพัฒนาวัคซีนจำเป็นต้องมีการผลิตวัตถุดิบคือตัวเชื้อในปริมาณมาก ทำให้ยากต่อการที่จะขยายการผลิตออกไปได้มากเท่ากับการขยายการผลิตวัคซีนชนิดอื่น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญ หากคำนึงถึงความต้องการวัคซีนเป็นจำนวนมากและเร่งด่วนของสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในเวลานี้
แม้ว่านี้จะเป็น 4 วัคซีนที่ก้าวหน้าที่สุดในเวลานี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง แคมป์แมนน์ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนเอาไว้ว่า วัคซีนไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับการวิ่งแข่งขันกันว่าใครจะเข้าสู่เส้นชัยได้ก่อน
หากจะเปรียบเทียบกับการวิ่ง การพัฒนาวัคซีน ก็เหมือนกับการแข่งมาราธอน ที่จำเป็นต้องใช้เวลาและความละเอียดรอบคอบตั้งแต่ต้นจนจบ
อัลท์แมน เชื่อว่า วัคซีนที่เข้าป้ายในลำดับแรกสุด อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำกว่าที่คาดหวังกันไว้มาก
ถึงที่สุดแล้วผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนส่วนใหญ่เชื่อว่า โลกอาจมีและจำเป็นต้องใช้วัคซีนโควิด-19 หลายตัวด้วยกัน แตกต่างกันออกไปตามสภาวะทางภูมิศาสตร์ หรือกลุ่มอายุของประชากร
ซึ่งนั่นหมายความว่า การวางเดิมพันไว้กับวัคซีนตัวหนึ่งตัวใดเพียงตัวเดียว หรือเทคโนโลยีใดเพียงเทคโนโลยีเดียวอาจไม่เป็นการฉลาดนักนั่นเอง