รีเซต

'ขยะไฟฟ้าชุมชน' วาระแห่งชาติ พร้อมคำถามใครคือผู้กำกับกิจการพลังงานตัวจริง?

'ขยะไฟฟ้าชุมชน' วาระแห่งชาติ พร้อมคำถามใครคือผู้กำกับกิจการพลังงานตัวจริง?
มติชน
9 กันยายน 2564 ( 13:04 )
45
'ขยะไฟฟ้าชุมชน' วาระแห่งชาติ พร้อมคำถามใครคือผู้กำกับกิจการพลังงานตัวจริง?

ตั้งแต่มีการผลักดันส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้ากำจัดขยะชุมชน โดยบรรจุเป็นวาระแห่งชาติขึ้น การทำงานของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ เรื่อง

 

 

ล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนคือ ไม่ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ขัดกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ที่ให้ กกพ.ไปออกระเบียบรับซื้อให้กับโครงการที่มีความพร้อม ในอัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย (ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาโดยสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) จวบจนถึงแผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก  (AEDP 2018) ปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่แม้ กพช.จะได้เสนอให้ ครม.เห็นชอบปริมาณกำหนดปริมาณรับซื้อโครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทั้งระบบจำนวน 400 เมกะวัตต์แล้ว พร้อมมีบัญชีรายโครงการจำนวนรับซื้อแต่ละโครงการไว้ชัดเจนอันเป็นการแสดงความพร้อมครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็ตาม

 

 

ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมส่งสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เดินหน้าทำงานตามแผน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ภายใต้วาระแห่งชาติในการบริหารจัดการขยะของประเทศ

 

 

โดยกำหนดขั้นตอนเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอย และคณะทำงานพิจารณาโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (เฉพาะกิจ) ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และ สำนักงานคณะกรรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมี SPP และ VSPP 23 โครงการ กำลังผลิต 234.7 เมกะวัตวัตต์ ผ่านการคัดเลือก

 

 

แต่เมื่อมาถึงขั้นตอนของ กกพ.กลับไม่ดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ ไม่ออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนมารองรับ ปล่อยเวลาทิ้งไปกว่า 3-4 ปี ซึ่งนอกจาก กกพ.จะไม่เดินหน้าแล้ว  ยังเปลี่ยนแปลงนโยบายไปมา มีการเลือกปฏิบัติเร่งด่วนให้กับบางโครงการเท่านั้น และตอนนี้ทำเรื่องให้ กพช.  ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้าขยะจากชุมชนใหม่ทั้งหมด รวมถึงมีทีท่าเปลี่ยนอัตรารับซื้อไฟฟ้าด้วย ทำให้ SPP VSPP ทั้ง 23 โครงการ อาจะถูกโละทิ้งทั้งหมด มานับ 1 กันใหม่

 

 

เบื้องหลังการยืดเวลาออกไป ใครกำกับ และผลดีเกิดกับใครไม่มีใครรู้? แต่ผลกระทบใหญ่กำลังเกิดขึ้น เพราะการที่ กกพ.ไม่ออกระเบียบ และประกาศรับซื้อไฟฟ้า ทำให้เอกชนไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน รวมถึงใบอนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เพื่อเริ่มทำงานก่อสร้างได้

 

 

ตอนนี้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะโครงการโรงกำจัดขยะชุมชน กทม.ที่มี รัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในโครงการ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่งเป็นโครงการกำจัดได้ขยะได้ถึงวันละ 1,000 ตัน ปั่นไฟฟ้าป้อนระบบได้ 30 เมกะวัตต์ต่อโรง กำลังตั้งคำถามหนักถึงสาเหตุที่ถูกดองนับปี และอาจถูกโละโครงการเช่นเดียวกับอีก 20 กว่าโครงการ โดยเห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากความไม่แน่นอนในนโยบายภาครัฐต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย และเตรียมดำเนินการต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

 

 

ท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นในนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของ กกพ.มีเหตุการณ์ที่ทำให้นักลงทุนคลางแคลงใจเพิ่มอีกประเด็น ในการเลือกปฏิบัติ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนบางโครงการ เดินหน้าได้อย่างน่าสงสัย โดยเฉพาะโครงการที่เอกชนรายหนึ่งร่วมลงทุนกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โครงการนี้ กกพ.ยกเว้นขั้นตอนต่างๆ  และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับคำเสนอขายไฟฟ้าจากโครงการโดยตรง ทั้งที่โครงการดังกล่าวไม่มีความพร้อมด้านการลงทุนตรงข้ามกับที่ กกพ.ออกมาชี้แจง ยังอยู่ในขั้นตอนการปรับแก้เทคโนโลยีในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

 

 

…งานนี้ไม่เฉพาะนักลงทุน แต่มีหลายฝ่ายด้วยกัน ฝากคำถามกับ กกพ.ว่ามีความจริงใจต่อนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทน และการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่? ใครคือผู้กำกับกิจการพลังงานตัวจริง? การไฟเขียวให้กับบางโครงการ ขณะที่ SPP และ VSPP ทั้ง 23 โครงการถูกโละทิ้งหมด..มีคอนเน็กชั่นอะไรมาเกี่ยวข้องหรือไม่

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง