รีเซต

‘พาณิชย์’ กำกับราคาสินค้า หลังราคาน้ำมันสูงขึ้น

‘พาณิชย์’ กำกับราคาสินค้า หลังราคาน้ำมันสูงขึ้น
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2565 ( 14:46 )
174

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชน หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จนอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ โดยยอมรับว่า ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นจริง จากผลกระทบสงครามรัสเซีย และยูเครน จนส่งผลกระทบทั่วโลก และน้ำมันก็เป็นต้นทุนทั้งการผลิต และการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีการปรับตัว แต่สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อประเทศไทยนั้น ยังอยู่ที่ประมาณ 4% ต่ำกว่าหลายประเทศ 

 

นายจุรินทร์ ยังยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเข้าไปกำกับดูแล ทั้งการควบคุมปริมาณสินค้าไม่ให้ขาดตลาดวัตถุดิบต้องมีเพียงพอ เพราะหากสินค้าขาดตลาด ก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอีก รวมถึงการควบคุมราคาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากต้นทุนสูงจากราคาน้ำมัน กระทบค่าขนส่ง ผู้ประกอบการอาจต้องขอปรับราคา แต่การอนุญาตให้ปรับนั้น จะต้องยึดกฎเกณฑ์ของกรมการค้าภายในที่จะต้องขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนจนยุติการผลิต เพราะหากผู้ประกอบการยุติการผลิตก็จะทำให้สินค้าขาดตลาดอีก จะยิ่งกระทบหนักกว่าสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และไม่มีของใช้ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ ก็จะช่วยให้เกิดความสมดุลของราคาตรวจสอบการขึ้นราคาสินค้าตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ให้ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคสามารถอยู่ได้เป็น Win-Win Model ได้รับประโยชน์ร่วมกัน พร้อมยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์จะดูแลกำกับราคาสินค้าให้อย่างดีที่สุด 

 

นายจุรินทร์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดโครงการพาณิชย์ลดราคา Back To School ลดราคาอุปกรณ์การเรียน และชุดนักเรียนหลายรายการ และบางรายการสินค้าตรึงไว้ไม่ให้ขึ้นราคา รวมถึงในสัปดาห์หน้าจะมีโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชนล็อตใหม่ในหมวดสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเป็นทางเลือกในการแบ่งเบาภาระประชาชนจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 

 

ส่วนราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น นายจุรินทร์ ชี้แจงว่า สาเหตุที่ราคาน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้น เพราะราคาปาล์มปรับตัวจากกิโลกรัมละ 2 บาท เป็น 12 บาท ซึ่งเกษตรกรก็ไม่ต้องการให้ราคาผลปาล์มดิบต้องตกลงมาโดยไม่จำเป็น แต่ในเมื่อเกษตรกรได้ประโยชน์ แต่ผู้ผลิตในสายการผลิตก็ได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น การกำกับราคา จะต้องพิจารณาให้ผู้ที่อยู่ในสายการผลิต สามารถผลิตน้ำมันปาล์มต่อได้ เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตต้องเลิกการผลิต ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลปาล์มดิบได้ต่อ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งกรมการค้าภายใน กำลังเร่งหารือกับเกษตรกร เจ้าของโรงกลั่น ผู้จำหน่าย และผู้ส่งออกมาหารือร่วมกัน เพื่อให้มีน้ำมันปาล์มบริโภคในประเทศเพียงพอ และราคาไม่สูงจนเกินไป ให้เกษตรกรยังสามารถขายปาล์ม เพื่อยังได้ชีพได้  

 

 

 

ภาพ : TNNONLINE 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง