รีเซต

แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ตามคำสอน ในหลวง รัชกาลที่ 9

แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ตามคำสอน ในหลวง รัชกาลที่ 9
TNN ช่อง16
13 ตุลาคม 2567 ( 09:57 )
17

หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช ขอเชิญชมนิทรรศการศิระกราน พระภูบาลนวมินทร์ “ศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 9 – 21 ต.ค. 67 เวลา 10.00 – 16.30 น. (หยุดวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ โถงต้อนรับ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

โดยตัวของนิทรรศการจะเล่าถึง การทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีโครงการพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการ เฉพาะโครงการด้านน้ำมากกว่าสามพันโครงการ หนึ่งในนั้นคือ “การบริหารจัดการน้ำท่วม” ทรงให้แนวทางและทรงทำเป็นแบบอย่างมากมาย เช่น การขุดคลองลัดโพธิ์ เพื่อ ย่นระยะทางไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยบรรเทาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทรงให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วมมาก ทรงศึกษาวิเคราะห์ด้วยพระองค์เองจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ทรงศึกษาทั้งเอกสาร แผนที่และรายงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสด็จฯ ลุยน้ำเพื่อตรวจพื้นที่จริง แล้วจึงพระราชทานวิธีแก้ไขและการป้องกัน

เมื่อพูดถึงน้ำท่วมกรุงเทพฯ คราใด พระองค์ทรงแก้ไขปัญหาทุกครั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานคร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 ม. เท่านั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากปากอ่าวไทยนัก เมื่อถึงฤดูฝนจึงมักเกิดน้ำท่วมที่มีแหล่งน้ำจาก 3 แหล่ง คือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุนจากทะเล แต่สาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ น่าจะมาจาก 3 ปัจจัยหลักนี้ ได้แก่ 1. คนเยอะ เมืองขยายเกินพอดี ต้นไม้ลดลง , 2. ฝนตกหนัก และดินทรุดลง และ3. ขยะอุดตันท่อระบายน้ำ


เมื่อเกิดน้ำท่วมในแต่ละปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมถึงทรงวางแนวทางป้องกันน้ำท่วมไว้ให้สำหรับปีต่อๆ ไป 

เมื่อเราเดินชมนิทรรศการต่อจะมีการบอกเล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2526 กรุงเทพฯ ปีนี้ เกิดน้ำท่วมยาวนานถึง 4 เดือน ความสูงของน้ำ 50-1 ม. ความเสียหายมีมากถึง 6 พันล้านบาท ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดเวลา ได้เสด็จพระราชดำเนินออกตรวจพื้นที่น้ำท่วมด้วยพระองค์เองถึง 6 ครั้ง ทั้งเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ เรือ และรถยนต์พระที่นั่ง ทุกครั้งที่เสด็จฯ จะทรงกางแผนที่ทอดพระเนตรจุดระบายน้ำต่าง ๆ จากคลองด้านเหนือไปยังด้านใต้ ทรงฉายภาพบริเวณน้ำท่วมด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงจุดที่เป็นเวลาพลบค่ำก็จะทรงฉายไฟฉายส่วนพระองค์ลงบนแผนที่ป้องกันน้ำท่วม

นิทรรศการโครงการคลองลัดโพธิ์ฯ โครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 

“ให้พิจารณาโครงการและดำเนินการปรับปรุง ขุดลอกพร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ ตามความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล”

โครงการนี้มีขึ้นในปี 2545 แล้วเสร็จในปี 2549 โดยปรับปรุงคลองลัดโพธิ์เดิมที่เล็กและตื้นเขิน กว้าง 10-15 ม. ให้กว้าง 65 ม. จากเดิมลึก 1-2 ม. ให้ลึก 7 ม. และยาว 600 ม. ช่วยร่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 กม. ให้เหลือเพียง 600 ม. จากเดิมใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำ 5 ชม. ให้เหลือเพียง 10 นาที สามารถระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10-15% ปัจจุบันระบายน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากได้ประมาณ 1,439 ล้าน.ลบ.ม. หรือ 40 ล้าน.ลบ.ม.ต่อวัน ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่นอกเขตคันกั้นน้ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ ผลจากโครงการคลองลัดโพธิ์ฯ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นเวลา 19 ปี คลองลัดโพธิ์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ 

และยังมีกิจกรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกให้แก่เด็กผู้ร่วมชมนิทรรศการได้คัดแยกขยะออกจากบ่อน้ำเพื่อไปทิ้งในถังขยะที่ถูกแยกตามชนิดขยะ เพื่อให้หนูๆที่เข้าชมได้เข้าใจการคัดแยกขยะ

การเสด็จฯ ทอดพระเนตรพื้นที่น้ำท่วมในแต่ละครั้ง ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยเร็วที่สุด บางครั้งทรงลุยน้ำเข้าไปตามทางรถไฟประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ หรือพระราชดำเนินผ่านท้องนา 1 กิโลเมตรเศษ เพื่อไปยังประตูระบายน้ำ เพื่อให้เห็นกับพระเนตรเอง จะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด พระองค์ทรงเข้าใจสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ทรงกำชับว่า “...ถ้ามองภาพไม่เห็นชัดเจนก็ให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ดูทางอากาศ จะเห็นเส้นทางระบายน้ำอย่างชัดเจน...” 

และยังรับสั่งเพิ่มเติมว่า

“...ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสำหรับปีนี้ ขอให้ทุกคนอย่าลืมเสียหมดหลังจากน้ำที่ลดลง...” และรับสั่งว่า

“...ทุกปีที่ผ่านมาน้ำลดแล้วก็ลืม ฉะนั้นปีนี้ขอให้เก็บทุกอย่างไว้เป็นหลักฐาน ประกอบการแก้ไขในอนาคต ในส่วนพระองค์จะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้เพื่อเป็นสิ่งเปรียบเทียบกับปัญหาในอนาคต...”    

ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์






ข่าวที่เกี่ยวข้อง