รีเซต

"ศรีลังกา" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังประธานาธิบดีหลบหนีไปมัลดีฟส์

"ศรีลังกา" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังประธานาธิบดีหลบหนีไปมัลดีฟส์
TNN ช่อง16
13 กรกฎาคม 2565 ( 15:22 )
90


เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ประธานาธิบดี "โกตาบายา ราชปักษา" หนีออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศเมื่อช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น .. ทางทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ "ศรีลังกา" ในทันที

ความเคลื่อนไหวสถานการณ์ใน "ศรีลังกา" มีขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยังคงปักหลักอยู่ที่ด้านนอกทำเนียบนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห และเรียกร้องให้เขาลาออกตามกำหนดในวันนี้ 

ภาพจาก Reuters

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแถลงว่า ประธานาธิบดีราชปักษา และภริยา รวมถึงองครักษ์อีก 2 คน ได้ขึ้นเครื่องบินแอร์ฟอร์ซ ของกองทัพอากาศศรีลังกา ไปยังประเทศมัลดีฟส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเรื่องนี้ทางกองทัพอากาศก็ออกมายืนยันในภายหลัง 

สำนักนายกรัฐมนตรีศรีลังกายืนยันในวันนี้ (13 ก.ค.) ประธานาธิบดีราชปักษาได้ออกนอกประเทศไปแล้ว ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่เขาจะประกาศลาออกในวันนี้

ก่อนหน้านี้ สื่อในมัลดีฟส์รายงานแล้วว่า เครื่องบินทหารได้นำประธานาธิบดีราชปักษา ไปถึงสนามบินนานาชาติวีลานาเมื่อเวลาประมาณ 3.00 น. วันนี้ตามเวลามัลดีฟส์

ภาพจาก Reuters

แหล่งข่าวในรัฐบาลศรีลังกา ระบุว่า เป็นไปได้อย่างสูงว่า ประธานาธิบดีราชปักษาอาจหนีต่อไปยังประเทศอื่นในเอเชีย แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นประเทศใด

ด้าน ข้าหลวงใหญ่อินเดียในศรีลังกา ปฏิเสธรายงานข่าวอินเดียช่วยให้ประธานาธิบดีราชปักษาหนีออกนอกประเทศว่า เป็นการคาดเดาที่ไร้มูลความจริง

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญศรีลังกา เมื่อประธานาธิบดีลาออก นายกรัฐมนตรีจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทน .. แต่กรณีนี้นายกฯวิกรมสิงเห ก็ประกาศจะลาออกด้วย .. ทำให้ มหินทา ยาปา อาบีวาร์ดีนา ประธานรัฐสภา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ดูแลประเทศแทน จนกว่าจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ .. ซึ่งมีกำหนดจะเลือกกันในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ โดยการลงมติในรัฐสภา

ภาพจาก Reuters

ตระกูล "ราชปักษา" ทำศรีลังกาล้มละลายใน 30 เดือน

ก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2019 โกตาบายา ราชปักษา ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้เสนอให้มีการลดภาษีอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นกลไกหลักในการหาเสียง

ในเวลานั้น มังกาลา ซามาราวีรา รัฐมนตรีคลัง เตือนว่าเป็นเรื่องสุดอันตรายที่จะลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 15% ลงเหลือเพียง 8% รวมถึงการยกเลิกจัดเก็บภาษีอื่น ๆ .. ซึ่งศรีลังกามีเงินรายได้จากภาษีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ และมีภาระหนี้สินที่สูง ทำให้ต้องแสวงหาเงินสดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 

"หากดำเนินการเช่นนี้ ไม่เพียงประเทศจะล้มละลาย.. แต่ทั้งประเทศจะกลายเป็นเหมือนกับเวเนซุเอลา หรือกรีซ ที่ต้องรอคอยแต่เงินสดช่วยเหลือจากส่วนอื่น" อดีตรมว.คลังกล่าว

ภาพจาก Reuters

และเพียง 30 เดือน คำเตือนของอดีตรัฐมนตรีคลังก็กลายเป็นความจริง! 

และกลายเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญสำหรับผู้นำที่เน้นนโยบาย "ประชานิยม" ท่ามกลางสภาวะสงคราม, โรคระบาด และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง 

หลังจากที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2019 ตระกูล "ราชปักษา" กลายเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดตระกูลหนึ่งของเอเชีย .. เขาประกาศลดภาษีทันทีที่่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดแรก และฟื้นอำนาจของประธานาธิบดีอีกครั้ง หลังจากที่พี่ชายเขา "มหินทรา ราชปักษา" ก็เคยครองตำแหน่งนี้มาถึง 10 ปี 

แต่แทนที่เขาจะครองอำนาจเพื่อดูแลประชาชน .. ราชปักษากลับเร่งรัดที่จะฟื้นฟูภาพลักษณ์ของแบรนด์ "ราชปักษา" .. ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่าเป็นเสมือนลัทธิเผด็จการแบบประชานิยม ที่ดึงดูดใจชาวพุทธสิงหล ที่มีสัดส่วนราว 75% ของประเทศ 

นโยบายดังกล่าวของราชปักษาดำเนินไปได้เพียงไม่นาน ก็ทำให้ศรีลังกาไม่หลงเหลือเงินสดที่จะซื้อสิ่งของจำเป็น อาทิ อาหาร ยา และน้ำมัน นำมาสู่การเข้าคิวยาวเพื่อซื้อน้ำมัน และถูกตัดไฟวันละอย่างน้อย 13 ชั่วโมง 

นำมาสู่การประท้วง และบุกเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้เขาลาออก 

ภาพจาก Reuters

12 ปี จาก 20 ปีที่ผ่านมา สมาชิกตระกูลราชปักษาได้ควบคุมตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาลศรีลังกา และภายในการครอบครองของพวกเขา ... สื่อฝ่ายตรงข้ามระบุว่า ศรีลังกากำลังอยู่ภายใต้ "เผด็จการที่อ่อนโยน" 

โดยโกตาบายา ในวัย 72 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้ปัญชาการทหาร และเป็นผู้ผลักดันให้ยุติสงครามต่อต้านกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดน "ทมิฬ" ที่สังหารผู้คนไปมากกว่า 100,000 คน ก่อนที่จะมีการหยุดยิงในปี 2009

ขณะที่ "มหินทรา" พี่ชายของเขา ในวัย 76 ปี เป็นเสมือนสมองทางการเมืองของตระกูล ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ อีก 2 คน คือ ชามาล และ บาซิล ก็เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาลเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ก่อนที่ตระกูลราชปักษาจะมีอำนาจ ประเทศศรีลังกาเองก็เผชิญกับปัญหาด้านการเงินอยู่ไม่น้อย โดยระหว่างการดำรงตำแหน่งครั้งแรกของครอบครัว รัฐบาลได้กู้เงินก้อนโตจากจีน เพื่อลงทุนในโครงการต่าง ๆ เช่น ท่าเรือน้ำลึกในเขตฮัมบันโตตา ทางใต้ของเกาะ อันเป็นความพยายามที่จะเป็น "สิงคโปร์" แห่งเอเชียใต้ แต่ปรากฎว่าโครงการต่าง ๆ ต้องถูกระงับลง และหนี้ต่างประเทศพุ่งเป็น 2 เท่า ระหว่างปี 2010-2020

ภาพจาก Reuters

อีกทั้งศรีลังกายังเผชิญความท้าทายจากการก่อการร้ายในปี 2019 กรณีการระเบิดพลีชีพในคืนวันอีสเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 250 คน .. สร้างความหวาดกังวลจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก 

และจากเหตุระเบิดพลีชีพนี้ ราชปักษา จึงได้พยายามเรียกความสนใจจากประชาชนด้วยนโยบายลดภาษีของเขา ... ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตัวทำลายประเทศเสียเอง.


ภาพจาก Reuters 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง