รีเซต

โค้งสุดท้าย ประชันวิสัยทัศน์ "สกลธี ภัททิยกุล"ชูนโยบายดูแลตั้งแต่ "เกิด ยัน แก่"-"หาเงินได้ ใช้เงินเป็น"

โค้งสุดท้าย ประชันวิสัยทัศน์ "สกลธี ภัททิยกุล"ชูนโยบายดูแลตั้งแต่ "เกิด ยัน แก่"-"หาเงินได้ ใช้เงินเป็น"
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2565 ( 06:42 )
119

นายสกลธี ภัททิยกุล  ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อิสระ หมายเลข 3 ได้แสดงวิสัยทัศน์ ผ่านรายการ "โค้งสุดท้าย ประชันวิสัยทัศน์ ผู้ว่า กทม. " ทางช่อง TNN 16 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2565  ร่วมกับผู้สมัครอีก 2 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 และ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี  พรรคไทยสร้างไทย  ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. หมายเลข 11 

 

 

นโยบาย 4 เรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม.ต้องแก้ไข

นายสกลธี ภัททิยกุล  ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3  ได้นำเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาของชาวกรุงเทพ โดยเฉพาะ "การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม "ที่จะต้องมองถึงสาเหตุและเข้าใจลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ กทม.เกือบ 100% นั้น มีลักษณะเเป็นแอ่ง อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น ขณะเดียวกันท่อระบายน้ำของกรุงเทพคิดเป็นสัดส่วน 80-90% เป็นท่อเก่า และมีขนาดเล็ก ทำให้ศักยภาพในการระบายน้ำนั้นไม่ทัน หากมีปริมาณน้ำฝนมากทำให้เกิดปัญหาน้ำรอการระบายบ่อยครั้ง  สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ การทำแนวเขื่อนให้ครบทุกด้าน อย่าให้ฟันหลอ รวมถึงต้องเปลี่ยนท่อขนาดเล็กให้เป็นท่อขนาดใหญ่  โดยจะต้องพิจารณาถึงพื้นที่ลักษณะทางกายภาพในปัจจุบัน ร่วมกับการนำเทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก รวมทั้งการขุดลอกคูคลองเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยให้สอดคล้องเป็นระบบทั่วทั้งกรุงเทพ

 

ขณะที่ "ปัญหาขยะมูลฝอย"  โดยระบบการจัดการขยะของกทม. ที่ผ่านมา นายสกลธี  มองว่า มีระบบการจัดการค่อนข้าง่ล้มเหลว ด้วยกรอบอัตรากำลัง 40% ที่ไม่เพียงพอกับปริมาณขยะที่มีจำนวนมหาศาล  ตลอดจนปัญหาของการเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่  ซึ่งในแต่ละปีกทม.สูญเสียงบประมาณในการจัดการขยะสูงถึง 5-7 พันล้านบาท  โดยส่วนใหญ่หมดไปกับค่าบุคลากร ซื้อถังขยะ  การเช่ารถ และมากที่สุดคือการจ้างฝังกลบขยะ โดยหากมีการแก้กฎหมายกทม. สามารถให้หน่วยงานอื่นเข้ามาทำได้เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของกทม.จะต้องทำเตาเผาขยะเป็นจุดย่อยๆเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาการขนขยะข้ามเขต โดยเชื่อว่าจะมีเงินกลับเข้ามาให้กับกรุงเทพฯ อย่างน้อย 5  พันล้านบาทต่อปี  ขณะเดียวกันจะต้องปลูกฝังการแยกขยะ และ สร้างแรงจูงใจการแยกขยะด้วยการนำเสนอ วิธีแลกแต้มหรือแลกเงิน เพื่อให้เกิดการแยกขยะกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดภาระการจัดเก็บและงบประมาณในการกำจัดขยะ ช่วยให้กทม. เอางบฯที่เหลือ ไปบริหารจัดการส่วนอื่นๆได้ต่อไปด้วย 

 

 

ด้าน การแก้ไข"ปัญหาพื้นสีเขียว"  นั้น กรุงเทพมีสวนขนาดใหญ่ 30 กว่าสวน แต่ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ  โดยสวนเดิมที่มีอยู่แล้วก็จะต้องดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดี ส่วนพื้นที่ที่พัฒนาได้ก็จะต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก เช่น สวนบึงหนองบอน เขตประเวศน์ เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนา สามารถทำพื้นที่ให้เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำได้ เป็นศูนย์รวมพื้นที่สีเขียวที่มีศักยภาพ และการทำสวนขนาดเล็ก หรือ พ็อคเก็ตพาร์ค โดยดูจากโมเดลของญี่ปุ่น ที่นำเอาพื้นที่รกร้างมาทำเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนหรือเอกชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา เป็นสวนเล็กย่อยๆที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

 

ขณะที่ "ปัญหาชุมชนแออัด"  ก็มองว่าการแก้ปัญหาจะต้องนำมาผสมผสานกัน ในส่วนของกลุ่มที่บุกรุกเดิมอาจจะต้องพัฒนาที่อยู่อาสัยเดิมให้ดีขึ้น  รวมทั้งจะต้องมีการกระจายความเจริญไปสู่ชายขอบของเมือง เพราะที่ผ่านมาความเจริญยังกระจุกอยู่ใจกลางเมือง  โดยอาศัยพันธมิตรในการช่วย การสนับสนุนโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อติดอาวุธให้กับประชาชน  ให้มีความรู้ มีอาชีพ และ สุดท้ายคือ เงินทุนและสถานที่ในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการกระจายความเจริญออกไปรอบนอกมากขึ้นจึงจะตอบโจทย์มากที่สุดหากต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบรรดาชุมชนแออัด 

 

คุณจะทำอะไรใน 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง? 

นายสกลธี กล่าวว่า หากได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่า กทม. ในช่วง 100 วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ก็พร้อมที่จะดำเนินตามนโยบายที่ให้ไว้ ทั้งระยะ เร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว  โดยจะเริ่มสตาร์ทพร้อมกันทั้ง 3 ระยะทันที อันดับแรกจะลุยแผนการขุดลอกท่อ ว่าขาดเหลืออย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมรองรับฤดูฝนนี้  อีกทั้งจะเปลี่ยนระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ประสบปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน โดยอาจจะต้องกลับมามอบหมายให้หน่วยงานเดียวเป็นผู้รับผิดชอบจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า รวมทั้งการจัดการเรื่องของบุคลากรเพื่อปรับโยกย้ายคนทำงานที่ผิดฝาผิดตัว คืนความเป็นธรรมให้กับผู้เคยถูกละเลยไปให้กลับมาทำงานให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และในระยะกลาง คือการแก้ไขข้อบัญญัติหรือกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการบริหารจัดการของกทม. ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น  ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาทำได้ทั่วถึง  ขณะที่ในระยะยาว คือ ดูแลตั้งแต่ "เกิด ยัน แก่" โดยเฉพาะการปรับงบประมาณเพื่อเข้ามาดูแลตั้งแต่การศึกษา ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบสาธารณสุข ให้ได้ประสิทธิภาพสำหรับชาวกรุงเทพทุกคน  

 

 

"สมาร์ทซิตี้" คืออะไรในใจผู้สมัครฯ และต้องทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น?

นายสกลธีกล่าวว่า  หากจะยกตัวอย่างการพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ให้เห็นได้ชัด ก็คือการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยคำนวณการปล่อยรถเข้ามาช่วย ทำให้การปล่อยรถรอบกรุงเทพให้มีประสิทธิภาพหมุนเวียนไปได้ดีขึ้น  รวมถึงการใช้กล้องวงจรปิดที่เพิ่มเทคโนโลยี AI เข้าไปจะช่วยให้การดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากในอนาคตมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นตัวหลักในการบริหารจัดการต่างๆ ก็เชื่อว่าจะเกิดการทุจจริตได้ยากมากขึ้นด้วย  

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าด้วยประสบการณ์จากการดำรงค์ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากว่า  4 ปี ที่เข้าใจระบบการทำงาน บุคคลากร และปัญหา วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ จะสามารถจะนำความรู้ความสามารถที่สั่งสมมา พร้อมนำไปใช้อย่างเต็มที่เมื่อได้รับโอกาส ขณะเดียวกันปัญหาต่างๆของกรุงเทพต้องอาศัยการลงพื้นที่ พบปะพี่น้องประชาชนและพร้อมตลอดเวลา เพราะจะมีสิ่งไม่คาดฝันไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ  เพราะฉะนั้นในวัย 44 ปี คิดว่าเป็นวัยที่มีพลังเต็มที่พร้อมจะลุยแก้ปัญหาให้ชาวกรุงเทพได้ทันที และสุดท้ายที่จำเป็นและสำคัญที่สุดคือ ผู้ว่าฯต้อง "หาเงินได้ ใช้เงินเป็น" และกระจายเงินให้กับทุกภาคส่วนทุกเขตของกรุงเทพฯ 

 

"กรุงเทพเป็นเมืองใหญ่ แล้วก็ปัญหาจุกจิก ต้องได้คนต้องได้ที่มีพลัง คนหนุ่มที่มีพลังในการทำงาน รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานเช่นกัน ที่สามารถทำงานได้เลยในวินาทีแรกที่เหยียบเข้า โดยไม่ต้องรองานหรือว่าเรียนรู้งานใหม่ที่สำคัญคือ ผมเสนอที่จะเป็นผู้ว่าที่  "หาเงินได้ ใช้เงินเป็น" กระจายเงินให้กับทุกภาคส่วนทุกเขตของกทม.  อย่างเท่าเทียมกันอีกทั้งการที่เป็นผู้สมัครอิสระ ก็จะไม่จำเป็นต้องตอบแทนใคร นอกจากตอบแทนชาวกรุงเทพเท่านั้น" 

 

 

สามารถรับชมเทปบันทึกออกอากาศทาง TNN ช่อง 16 ในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม เวลา 15.30-17.00 น. 

 

ข้อมูลจาก : "โค้งสุดท้าย ประชันวิสัยทัศน์ ผู้ว่า กทม. " ทางช่อง TNN 16 

ภาพจาก : TNN 16 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง