ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั้งประเทศ 3 เม.ย. สกัดโควิด-19 ฝ่าฝืนจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น

รัฐบาลประกาศห้ามบุคคลใดทั่วประเทศออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ประกาศเคอร์ฟิวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า ในการป้องกันและชวยเหลือประชาชนจะยึดหลัก "สุขภาพนำเสรีภาพ" โดยเป้าหมายสำคัญคือการจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายบุคคล และรวมตัวของคนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งต้องออกมาตรการให้เข้มงวดสอดคล้องในสถานการณ์ที่เป็นอยู่และคำแนะนำทางการแพทย์ ทั้งอาจมีมาตรการที่ประชาชนรู้สึกไม่ปกติบ้าง แต่ต้องปรับตัว และรับผิดสอบส่วนร่วม
ภายหลังประกาศเคอร์ฟิว พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า เพราะท่านยังมาซื้อข้าวของได้ตามปกติตอนกลางวัน แต่ต้องคุมเข้มเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม"
ภายใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่กำหนดเรื่องเคอร์ฟิวเอาไว้ นายกฯ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดโทษไว้ว่า "หากใครฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
การยกระดับมาตรการรับมือกับโควิด-19 เกิดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" ทั้งประเทศครบ 1 สัปดาห์นับจากวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้ใน "ข้อกำหนดชุดแรก" จำนวน 16 ข้อ มาครั้งนี้จึงเป็นการออก "ข้อกำหนดชุดที่สอง"
อย่างไรก็ตามมีบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทางและได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องอยู่ใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ได้แก่
- ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
- การธนาคาร
- การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค
- ผลผลิตการเกษตร
- ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์
- หนังสือพิมพ์
- การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
- การขนส่งพัสดุภัณฑ์
- การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก
- การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
- การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ
- การเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1)
- เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนต ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดหวังว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะช่วยหน่วงยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยให้ไปไม่ถึงตัวเลข 3,500 ราย ณ สิ้นเดือน เม.ย. แต่ทว่าสถิติผู้ป่วยที่พบยังเป็นตัวเลข "หลักร้อย" ในทุก ๆ วันที่ผ่านมา
ข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. พบว่า ไทยมีผู้ป่วยสะสม 1,875 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ขณะที่เชื้อไวรัสได้กระจายไปยัง 63 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว
- สถิติโควิด-19 ของไทยเปลี่ยนไปอย่างไรหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบสัปดาห์
- สรุปสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทั่วไทย ทั่วโลก ล่าสุดผ่านแผนที่-อินโฟกราฟิก
- รู้ศัพท์ รู้สถานการณ์โควิด-19 ผ่านคำที่ได้ยินบ่อย ๆ ในภาวะโรคระบาด
- "หมอลักษณ์ฟันธง" ชี้ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" ในโควิด-19 กับการอาสาเป็น "ที่พึ่งทางใจ" ของคนไทย
ก่อนมีการประกาศเคอร์ฟิวจากรัฐบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างน้อย 4 จังหวัดได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และข้อกำหนดชุดแรกที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศห้ามประชาชนใน จ.ภูเก็ต, นนทบุรี, พิษณุโลก และแม่ฮ่องสอน ออกนอกเคหสถานในช่วงค่ำถึงช่วงรุ่งสาง โดยกำหนดช่วงเวลาแตกต่างกันไป
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
