รีเซต

แบงก์ชาติ-กลต. เตรียมออกกฎคุมใช้เงินดิจิทัลซื้อของ ยัน ธปท.ให้ความสำคัญระบบ ศก.ไทย

แบงก์ชาติ-กลต. เตรียมออกกฎคุมใช้เงินดิจิทัลซื้อของ ยัน ธปท.ให้ความสำคัญระบบ ศก.ไทย
มติชน
7 ธันวาคม 2564 ( 18:18 )
89
แบงก์ชาติ-กลต. เตรียมออกกฎคุมใช้เงินดิจิทัลซื้อของ ยัน ธปท.ให้ความสำคัญระบบ ศก.ไทย

ข่าววันนี้ 7 ธันวาคม น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาออกแนวนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ หลังจากช่วงที่ผ่านมามีธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจ ใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี แลกเปลี่ยนซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและเสถียรภาพระบบชำระเงินของประเทศ

 

ทั้งนี้ กรณีที่มีบางธนาคารพาณิชย์ ได้เข้าถือหุ้นหรือได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรในบริษัทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทในเครือของธนาคารนั้น ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ ธปท.ยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง เนื่องจากไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธนาคารและความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบธุรกิจมาหารือ ธปท.บ้างในเรื่องรายละเอียดและสร้างความเข้าใจ

 

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า พันธกิจของ ธปท. มีอยู่ 3 มิติ คือ 1.ทำเงินให้เป็นเงิน คือ รักษาค่าของเงินตรา ต้องการดูแลมูลค่าเงินในกระเป๋า เงินฝากในธนาคาร ซึ่งเชื่อมกับอัตราแลกเปลี่ยน และเงินเฟ้อ 2.ดูแลระบบเศรษฐกิจให้โตอย่างยั่งยืนเต็มประสิทธิภาพ ดูแลภาวะการเงิน ดูอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน โดย ธปท.ดูแลเมื่อเวลาเศรษฐกิจชะลอกว่าที่ควรจะเป็น และ 3. ดูแลกำกับธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.เป็นแหล่งกู้ยืมแหล่งสุดท้าย ป้องกันวิกฤตธนาคาร

 

“ถ้าคนมาถือเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น การควบคุมจะน้อยลง เพราะคนใช้เงินบาทน้อย กิจกรรมต่างๆ เปลี่ยนไป ทำให้ความสามารถ ธปท.ควบคุมดูแลภาวะการเงินสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจลดน้อยลง และการดูแลเคลื่อนย้ายเงินทุน ไม่ให้ผันผวนทำได้ยากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติจะไม่สามารถป้องกันได้” นายสักกะภพกล่าว

 

นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท.กล่าวว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งความผันผวนด้านราคา, มาตรฐานความปลอดภัยอย่าง ภัยไซเบอร์ การแฮก การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับความเสี่ยงเอง ต่างจากการชำระเงินที่มีตัวกลางอย่างธนาคาร หากเงินถูกแฮก สามารถเรียกร้องนำเงินกลับมาได้ เพราะมีตัวกลาง คือ ธนาคารเป็นผู้ดูแลความเสี่ยง รวมไปถึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง