รีเซต

"ลาออกเงียบๆ" "ลาออกล้างแค้น" หมดยุคทำงานถวายชีวิต?

"ลาออกเงียบๆ"  "ลาออกล้างแค้น"  หมดยุคทำงานถวายชีวิต?
TNN ช่อง16
28 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
20

ลาออกแบบเงียบๆ  หรือ "Quiet Quitting"


ทำงานไปวันๆ  สั่งแค่ไหน ก็ทำแค่นั้น ทำแค่ตามหน้าที่ไม่มากไปกว่านี้ 

หมดไฟ หมดพลัง ไม่กระตือรือล้นอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่ลาออก

หรือลาออกอยู่ในใจ แบบไม่มีใครรู้

นี่ คือ สิ่งที่เรียกว่า ลาออกแบบเงียบๆ  หรือ "Quiet Quitting"

และการลาออกแบบเงียบๆ ที่ว่านี้ กำลังลุกลามในกลุ่มคนทำงานของญี่ปุ่น

ล่าสุดผลสำรวจที่พบว่าพนักงงานประจำเกือบครึ่งมีอาการที่ว่านี้

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมให้คนต้องทุ่มเทและเสียสละเพื่องาน

หรือยอมตายเพราะงานหนักได้  


งานหนักไม่ทำให้ใครตายจริงหรือเปล่าไม่รู้ 

แต่ที่แน่ๆตอนนี้คนญี่ปุ่นยุคนี้เริ่มหมดไฟ ไม่อยากทำงานหนักเกินตัวแล้วค่ะ 

อ้างอิงเรื่องนี้จากรายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เช่น 

เซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post) และ The Japan Times

ซึ่งได้เปิดเผยผลสำรวจของบริษัทจัดหางาน "ไมนาบิ" (Mynavi) 

พบว่าพนักงานประจำในญี่ปุ่นมากถึง 45% 

มีพฤติกรรม "ลาออกเงียบๆ" หรือหรือ "Quiet Quitting" 

ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานเพียงแค่ตามสั่งหรือตามหน้าที่เท่านั้นไม่มากไปกว่านี้ 


และจากการสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 3,000 คน 

เป็นคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ไปถึง 59 ปี  แต่พบว่ากลุ่มคนที่มีอาการแบบนี้ส่วนใหญ่คือเด็กรุ่นใหม่ๆ

โดยเฉพาะคนในช่วงวัย 20 ปี มากถึง 46.7% ระบุว่าเป็นคนทำงานที่กำลังลาออกเงียบๆ 

เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนเหล่านี้ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานแล้ว

และมองหา Work Life Balance หรือสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ 



ทั้งนี้จากการสำรวจของ Mynavi พบว่ามีสาเหตุหลัก 4 ประการ

ที่ทำให้พนักงานชาวญี่ปุ่นลาออกเงียบๆ คือ


1. รู้สึกว่าสถานที่ทำงานปัจจุบันไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการทำ

2. ไม่พอใจกับการประเมินผลงานของตนเองโดยนายจ้าง

3.ให้ความสำคัญกับต้นทุนและผลประโยชน์ของงานเป็นหลัก 

หมายความว่า พวกเขาต้องการอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันมากกว่า 

เพราะการเลื่อนตำแหน่งจะทำให้ต้องเสียเวลาส่วนตัวหรือความพยายามมากขึ้น 

ซึ่งไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ

4.ไม่สนใจความก้าวหน้าในอาชีพการงานอย่างแท้จริง



หลายคนฟังเรื่องนี้แล้วบอกว่าไม่เห็นแปลก ใครๆก็เป็นกัน 

แค่การหมดไฟในการทำงาน

แต่สำหรับญี่ปุ่น เรื่องนี้สะท้อนอะไรได้มากกว่านั้น 

เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการทำงานแบบชาวญี่ปุ่น

ที่ผู้คนเชื่อในการทำงานแบบทุ่มเทถวายชีวิต 





วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยค่านิยมการเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวม 

มีคำว่า ‘คาโรชิ’ ซึ่งเป็นคำเรียกเฉพาะเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป

แต่ผลสำรวจของล่าสุดชี้ว่า ค่านิยมดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไป


 "Akari Asahina" นักวิจัยจาก Mynavi Career Research Lab  

ระบุว่า “การทำงานแบบ ‘ลาออกอย่างเงียบๆ’ กำลังกลายบรรทัดฐานใหม่ของคนญี่ปุ่น”

หรือกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมญี่ปุ่นไปแล้ว

ดังนั้นเมื่อค่านิยมต่างๆ ของคนมีความหลากหลายมากขึ้น 

บริษัทต่างๆ จึงควรยอมรับและเสนอรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นให้มากขึ้น

ให้เหมาะกับคนทำงาน 


ขณะเดียวกัน เรื่องนี้จากในมุมมองของ HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล

ซึ่งได้ถูกทำการสำรวจไปพร้อมกัน พบว่า มีฝ่ายบุคคลจำนวนไม่น้อย หรือมากถึงเกือบ 40 % 

ที่ตอบว่าพวกเขายินดีที่จะรับที่มีพฤติกรรมลาออกเงียบๆมาทำงาน 

และบอกด้วยว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหันมาพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าวให้มากขึ้น

ในกลุ่มพนักงานที่ไม่ได้แสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพการงาน 

เนื่องจากรูปแบบการทำงานของแต่ละคนแตกต่างกัน

แต่ก็มี HR อีกส่วนหนึ่งที่มองว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องดีนัก

โดยบอกว่าความคิดเช่นนี้อาจไม่ดีต่อขวัญกำลังใจโดยรวมขององค์กรได้ 


ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานของคนญี่ปุ่นกำลังลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

จากการรายงานของ ทาคาชิ ซากาโมโตะ (Takashi Sakamoto) 

นักวิเคราะห์จากสถาบัน รีครูต เวิร์ก  (Recruit Works Institute) เมื่อช่วงปลายที่ปีแล้ว 

พบว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยรายปีของชาวญี่ปุ่นลดลง 11.6% จาก 1,839 ชั่วโมงในปี 2000 

เหลือ 1,626 ในปี 2022 ซึ่งใกล้เคียงกับชั่วโมงการทำงานของชาวยุโรปมากขึ้น


นักวิเคราะห์ยังชี้อีกว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น

ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว มากกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

หรือการสร้างชื่อเสียงในที่ทำงานแบบคนรุ่นพ่อแม่


กระแสการลาออกเงียบๆ ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่ขึ้นมาสักพักใหญ่ๆแล้วทั่วโลก

และขณะเดียวกันล่าสุดปีนี้ก็มีเทรนด์ตรงกันข้ามออกมา

นั่นคือกระแสลาออกเพื่อแก้แค้นหรือลาออกเพื่อเอาคืนบริษัท

เพราะว่าทำงานหนักแต่กลับไม่ได้รับการดูแล

ไม่ได้เลื่อนขั้นหรือไม่ขึ้นเงินเดือนให้ 


คำว่า *Quiet Quitting* เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้างช่วงกลางปี 2565  (2022) 

จากคลิปวิดีโอบน TikTok โดยผู้ใช้งานชื่อ Zaid Khan ที่กล่าวว่า:

“You’re not outright quitting your job, but you’re quitting the idea of going above and beyond...”

คุณไม่ได้ลาออกจากงานจริง ๆ แต่คุณเลิกเชื่อในแนวคิดการทำงานเกินขอบเขต


วิดีโอดังกล่าวกลายเป็นไวรัลและจุดประกายให้เกิดการถกเถียงในวงการแรงงานทั่วโลก 

โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ที่ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับ “สมดุลชีวิต” (Work-Life Balance) 

มากกว่าความก้าวหน้าเพียงแค่อย่างเดียว

อย่างไรก็ตามเมื่อแนวคิดนี้กลายเป็นกระแสไวรัลบน TikTok 

และกลายเป็นแนวคิดใหม่ในการทำงาน 

และยังเป็นที่พูดถึงหรือพบเจอมากขึ้น และแพร่หลายกันไปทั่วโลก 

เช่น มีรายงานที่เผยแพร่ในปี 2566 โดยบริษัทวิจัย Gallup ของอเมริกา

 เปิดเผยว่าพนักงาน 59% ทั่วโลก มีแนวคิดที่ว่านี้ 

โดยคนเหล่านี้จะทำงานปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย 

แต่ว่าจะไม่ทุ่มเทเกินขอบเขตเพื่อหวังความก้าวหน้าในอาชีพการงาน 

ไม่ใฝ่ฝันถึงการเลื่อนตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งการขึ้นเงินเดือน 



"Revenge Quitting" ลาออกเพื่อแก้แค้น


ในทางกลับกันล่าสุดในปีนี้ก็มีอีกหนึ่งแนวคิดที่ก้าวร้าวและรุนแรงกว่า "การลาออกเงียบๆ" 

นั่นคือ "Revenge Quitting" ลาออกเพื่อแก้แค้น 

หมายถึงการที่พนักงานลาออกจากงานอย่างกะทันหัน 

เพื่อแสดงจุดยืนว่าตนเองไม่พอใจบริษัทหรือองค์กรอย่างเปิดเผย 

ซึ่งคนเหล่านี้มักจะมีพฤติกรรมการทำงานที่ตรงข้ามกับคนที่ลาออกเงียบๆ 

เช่น ทำงานหนักเกินเงินเดือน ทุ่มเกินหน้าที่ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่เลื่อนขั้น ไม่ขึ้นเงินเดือน

รวมถึงการหมดไฟในการทำงาน ไม่พอใจกับค่าจ้างที่ต่ำและโอกาสก้าวหน้าที่น้อยลง

โดยเฉพาะหนึ่งในปัญหาใหญ่ก็คือ “ที่ทำงานที่เป็นพิษ” 

ทำให้องค์กรเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการขาดความไว้วางใจ 

ซึ่งเทรนด์นี้กำลังเริ่มได้รับความนิยมและมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ 

เช่น การสำรวจโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ Software Finder ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นว่าพนักงานประจำ 4% ในสหรัฐฯ กำลังพิจารณาลาออกเพื่อแก้แค้นในปีนี้



ใครๆก็อยากได้เงิน แต่สำหรับคนยุคนี้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ 

ดูเหมือนว่า "Work Life Balance" หรือสมดุลชีวิตก็ยังมาแรงกว่า 

หมดยุคของทำงานหามรุ่งหามค่ำ มีแต่ลาออกเงียบๆ และลาออกเพื่อล้างแค้นเท่านั้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง