ทำเหมือง Chia อาจสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเดิม
Cryptocurrency สกุลเงินดิจิตอล เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ และมีสกุลเงินใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่ง Chia (เจี่ย) เป็นอีกหนึ่งสกุลเงินที่มีผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย เนื่องจากผู้สร้างชูจุดเด่นของสกุลเงินนี้ไว้ว่า "ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"
Chia ถูกสร้างขึ้นโดย Bram Cohen ผู้คิดค้น BitTorrent (ระบบดาวน์โหลดไฟล์แบบแชร์กันในเครือข่าย) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับเหรียญ Cryptocurrency สกุลอื่น โดยเฉพาะ Bitcoin และ Ethereum
ความแตกต่างของ Chia กับ Bitcoin/Ethereum คือการได้มาของเหรียญ เนื่องจาก Chia ใช้หลักการ Proof of Space-Time ในการค้นหาโดยใช้พื้นที่ของ HDD/SSD (Hard Disk/Solid-State Drive) ที่เราใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ Bitcoin/Ethereum ใช้หลักการ Proof of Work ซึ่งจะใช้การ์ดจอหรือเครื่อง ASIC ในการประมวลผลเพื่อให้ได้เหรียญมานั่นเอง
การใช้ HDD/SSD ใช้พลังงานน้อยกว่าการ์ดจอหรือ ASIC อย่างมาก ดังนั้น เมื่อเทียบแล้วหากค้นหาเหรียญ Chia ตลอด 24 ชั่วโมง จะสิ้นเปลืองไฟฟ้าน้อยกว่าการค้นหาเหรียญ Bitcoin/Ethereum แถมยังประหยัดค่าไฟมากกว่าด้วย
ไอเดียของเหรียญ Chia อาจจะดูดีในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอาจจะสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด แม้ HDD/SSD จะใช้พลังงานน้อยกว่าก็จริง แต่ในกระบวนการค้นหาเหรียญ Chia นั้น จะมีการเขียนและลบข้อมูลใน SSD อยู่เรื่อย ๆ ส่งผลให้อายุการใช้งานของ SSD สั้นลงเรื่อย ๆ ล่าสุดมีรายงานว่าจากเดิมที่ควรใช้ได้นาน 5 ปีเป็นอย่างน้อย จนใช้ได้เพียง 40 วันเท่านั้น
เหตุนี้ทำให้ผู้ที่ทำเหมือง Chia ต้องเปลี่ยน SSD อันใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว จนเกิดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์มากมาย ซึ่งขยะเหล่านี้ยากต่อการรีไซเคิลและอาจเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ปัจจุบันเหรียญ Chia เริ่มมีการทำเหมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้เรายังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากนัก แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเราอาจจะขยะ SSD/HDD เกลื่อนไปทั่วอย่างแน่นอน และถ้าเป็นเช่นนี้จริงมันก็คงจะขัดต่อปณิธานในการสร้างเหรียญนี้ขึ้นมา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Toms Hardware